สั่งทำกรอบงบประมาณชาติ 20 ปี รื้อรายรับรายจ่าย ปี59/60นำร่อง

24 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
ตามที่ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 วงเงิน 2.733 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% หรือวงเงิน 1.3หมื่นล้านบาทจากปี 2559 โดยรายจ่ายประจำอยู่ที่ 2.214 ล้านล้านบาท งบลงทุนอยู่ที่ 5.46แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ของรัฐบาล คาดว่าจะอยู่ที่ 2.343 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% ทำให้เป็นงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท เท่ากับงบประมาณในปี 2559 เนื่องจากที่ผ่านมานั้นรัฐบาลจะมีการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์(ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์มีทั้งสิ้น 45แผนงาน)และอีก 1 รายการดำเนินการภาครัฐ โดยขั้นตอน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จะนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมครม.ครั้งสุดท้ายภายในเดือนพฤษภาคม จากนั้นช่วงต้นเดือนมิถุนายนจะนำเข้าสู่การ พิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

[caption id="attachment_32858" align="aligncenter" width="600"] ข้อเสนอเบื้องต้น Per-Ceiling เทียบงบประมาญปี 2560 และ 2599 ข้อเสนอเบื้องต้น Per-Ceiling เทียบงบประมาญปี 2560 และ 2599[/caption]

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า งบประมาณปี 2560 นั้น กรอบวงเงินอยู่แค่ 2.733 ล้านล้านบาท จากเดิมสำนักงบประมาณแจ้งกรอบเบื้องต้น(Pre-ceiling)ที่ 3.3 ล้านล้านบาท หลังจากที่ส่วนราชการส่งคำของบประมาณเข้ามาทั้งหมดกว่า 4.2ล้านล้านบาท โดยปรับลดลง 6 แสนล้านบาท จึงจำเป็นให้แต่ละส่วนราชการต้องชั่งน้ำหนักเรียงลำดับความสำคัญการดำเนินภารกิจตามกรอบวงเงินข้อเสนอเบื้องต้น ตลอดจนลดภารกิจพื้นฐานไปเพิ่มเติมในภารกิจยุทธศาสตร์ ซึ่งหากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสามารถเพิ่มได้ไม่เกิน 5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนบูรณาการทั้งหมด 25 แผนงานนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเป้าหมายและตัวชี้วัดประกอบการจัดทำคำของบประมาณด้วย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการตั้งงบประมาณซึ่งเป็นการวางแผนร่วมกันว่างานไหนจะทำเมื่อไหร่ อย่างไรและจะได้รับการสนับสนุนได้ตรงจุดช่วยให้แผนบรรลุตามเป้าหมายได้ และให้ปรับวิธีการงบประมาณ เนื่องจากเดิมการทำงบประมาณบูรณาการในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณไม่ได้พูดถึงไว้

อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแนวทางใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนโดยแนวทางใหม่ 5 กลุ่มประกอบด้วย 1.ภารกิจพื้นฐานเรื่องอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำ รวมถึงการให้บริการจากภาครัฐตามปกติ 2.ภารกิจยุทธศาสตร์ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แนวทางปฏิรูป/งบประมาณบูรณาการ นโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ภารกิจนี้จะรวมถึงเรื่องของงบประมาณเชิงบูรณาการที่ประกอบด้วย 25 แผนงานคาดว่าปีนี้จะมีคำขอมากว่า 7.7 แสนล้านบาท เพราะเป็นจุดเน้นที่รัฐบาลโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่สำคัญดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว 3.ภารกิจพื้นที่เป็นเรื่องแผนพัฒนาจังหวัด ภูมิภาค รวมทั้งแผนพัฒนาท้องถิ่นจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ

ทั้งนี้ ทั้ง 3 ภารกิจ(ภารกิจพื้นฐาน,ภารกิจยุทธศาสตร์และภารกิจพื้นที่)จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับงบจังหวัด กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือยุทธศาสตร์ชาติ และควรจะลงในพื้นที่ใดบ้างโดยต้องมีแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาประกอบด้วย 4.งบกลางหรือภารกิจฉุกเฉินหรือจำเป็น เร่งด่วน หรือภัยธรรมชาติ/ภัยพิบัติต่าง โดยตั้งงบประมาณไว้เป็นเรื่องด่วนที่ไม่ได้คาดคิด 5.รายจ่ายชดใช้เงินกู้และดอกเบี้ย(ดูตารางประกอบ)

" มติ ครม.กำหนดให้สำนักงบประมาณเชิญหน่วยงานราชการมาทำการชี้แจงการจัดทำงบประมาณแนวทางใหม่โดยจะเริ่มปรับฐานงบประมาณปี 2559 เพื่อเป็นฐานในการจัดทำงบปี 2560 ต่อไป และมอบให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้หลักการแนวทางตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้รัฐมนตรีทุกท่านกลับไปดูว่าส่วนใดบ้างที่มีความจำเป็นเพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามแผนงบประมาณบูรณาการ ไม่สามารถปรับพร้อมกันคือปรับลดภารกิจพื้นฐานและให้เพิ่มในส่วนของภารกิจยุทธศาสตร์"

สำหรับการจัดทำงบประมาณล่วงหน้าระยะยาวที่ 20 ปีนั้น จะอิงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) แผนปฏิรูป นโยบายความมั่นคง ซึ่งแนวทางจะต้องมีกรอบรายรับแต่ละปี หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) หรือประมาณการรายจ่าย เหล่านี้จำเป็นต้องกำหนดเป็นสมมติฐานทั้ง Best Case และ Worse Case โดยแต่ละช่วงจะต้องปรับฐานในการคำนวณประมาณการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังจะร่วมกันทำตัวเลข

ขณะเดียวกันในอนาคตอาจจะต้องให้หน่วยงานซึ่งเป็นกระทรวงหลักทำแผนประมาณการเข้ามาด้วย ทั้งนี้แผนการกลับสู่งบประมาณสมดุลนั้นคาดว่าน่าจะทำได้ภายในระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากทำกรอบงบประมาณรายรับรายจ่ายล่วงหน้าระยะเวลา 20 ปีแล้วจะทำงบประมาณระยะปานกลางช่วงละ 5 ปีและนำกรอบเหล่านี้ทำเป็นยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยในปี 2560สำนักงบประมาณได้จัดทำตามแนวทางนี้เช่นกัน

อนึ่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ครม.ลงมติรับทราบการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายวิธีการงบประมาณโดยเพิ่มเติมประเด็นสำคัญ ได้แก่ การให้จังหวัด กลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับงบประมาณ หลักการความรับผิดชอบทางการคลัง การจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่สำหรับจัดทำแผนระดับพื้นที่จังหวัด กลุ่มจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การโอนงบประมาณระหว่างหน่วยงาน ภายใต้แผนบูรณาการและแผนงานบุคลากรภาครัฐเดียวกัน การเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ การปรับปรุงระบบติดตามและประเมินผล เป็นต้น

ส่วนแนวทางการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณนั้น กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะยึดยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านระยะ 20 ปี ทิศทางและกรอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนปฏิรูปภาครัฐ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนหลักอื่นๆโดยจัดทำกรอบงบประมาณรายรับและรายจ่ายล่วงหน้า ระยะ 20 ปีและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้หน่วยงานใช้ในการจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559