2 ต.ค.สหกรณ์ภาคเหนือเดือด! ลุกฮือ! ทบทวนจำนำยุ้งฉางใหม่

26 ก.ย. 2561 | 11:55 น.
 

จำนำยุ้งฉางป่วน สหกรณ์-กลุ่มเกษตรกร ภาคเหนือลุกฮือ  เตรียมยื่น 4 ข้อเรียกร้องปักหลักชุมนุมอุตรดิตถ์ วันที่ 2 ต.ค.นี้  สั่งรัฐให้ทบทวนโครงการใหม่  เผยยอมรับความเสี่ยงข้าวเปลือกเป็นเจ้าของ แลกค่าเก็บรักษาข้าวสหกรณ์ตันละ 1 พันบาท ชี้ต้นทุนพุ่งหากใช้ถุงใช้บิ๊กแบ็กขอเทกองข้าวรูปแบบเดิม

ripe-696x385

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561  เห็นชอบการทบทวนโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เกษตรกรหรือสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชะลอการขายข้าวในช่วงที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากเพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่เนื่องจากพบว่า ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากเกษตรกรไม่มากนักจึงได้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ต่างๆของโครงการใหม่ เพื่อดึงดูดใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยในวันนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

1.กรณีเกษตรกรฝากเก็บรักษาไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ให้ปรับปรุงค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท จากมติครม.เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 เดิมให้สหกรณ์ตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรได้รับตันละ 500 บาท ปรับเป็น ให้เกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และสหกรณ์ได้รับตันละ 500 บาท

2.เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกหลักประกันไว้ในยุ้งฉางหรือสถานที่เก็บของตนเองเท่านั้น จากเดิมที่ให้สามารถเช่ายุ้งฉางได้ แต่พบว่า สถานที่เก็บข้าวเปลือกที่ไม่ใช่ของตนเองนั้นจะสุ่มเสี่ยงต่อการดูแลรักษาทั้งปริมาณและคุณภาพของข้าว สุ่มเสี่ยงเข้าข่ายกับโครงการรับจำนำข้าวดังที่ผ่านมา

220861-1711

3.เห็นชอบให้ปรับปรุงวิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ต้องเก็บรักษาข้าวเปลือกโดยบรรจุข้าวเปลือกในกระสอบป่าน หรือถุงบิ๊กแบ็ก และวางเรียงในยุ้งฉาง หรือในสถานที่สะดวกในการตรวจสอบ หรือเก็บไว้ในที่ยกพื้นสูงหรือในไซโลก็ได้ ยกเว้นกรณีเทกองไว้กับพื้นจะต้องมีระบบระบายอากาศเพื่อให้สามารถคุมคุณภาพของข้าวเปลือก ไม่ให้เสื่อมคุณภาพตลอดระยะเวลาของโครงการ

จากกรณีดังกล่าวนี้ นายศมณัฏฐ์ สุขก้อน ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ทางจังหวัดได้มีการประชุมผู้แทนสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร) จำนวน 22 แห่ง และวันนี้ (วันที่ 26 ก.61) ประชุมพร้อมกัน 9 จังหวัดภาคเหนือ มีความเห็นร่วมกันจะมีการยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ในวันที่ 2 ตุลาคม 2561 โดยทุกจังหวัดจะมารวมตัวกันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ว่าขอให้ทบทวนมาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวใหม่

S__10043410

ทั้งนี้ 4 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1. วิธีการเก็บรักษาข้าวเปลือกตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกร ขอให้ใช้วิธีการเทกอง โดยมีรูปแบบเหมือนปีที่ผ่านมา  เนื่องจากการเก็บโดยใช้ถุงบิ๊กแบ็ก จะมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อถุงลูกละ 300 บาท และต้องใช้เวลาในการกรอกข้าวเปลือกเป็นเวลานาน 2.กรณีเกษตรกรฝากเก็บข้าวไว้ที่สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกร ขอให้คงสัดส่วนการแบ่งค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก โดยให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คือให้สหกรณ์ตันละ 1,000 บาทและเกษตรกรตันละ 500 บาท

3.ข้าวเปลือกตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จะขอรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของเอง และ 4.สหกรณ์ /กลุ่มเกษตรกร มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนเพื่อจัดสร้างยุ้งฉางหรือไซโลโดยขอให้เพิ่มวงเงินงบประมาณให้แก่สถาบัน (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร) ให้ครอบคลุมไปยังสหกรณ์การเกษตรที่ยังไม่มียุ้งฉางหรือไซโล

090861-1927-9-335x503-8-335x503

แหล่งข่าวจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561  นั้นสหกรณ์/สถาบันเกษตรกร ไม่ต้องรับผิดชอบข้าว ส่วนความเป็นเจ้าของข้าว ยังคงเป็นเกษตรกร หากเมื่อไรที่ข้าวมีราคาสูงเกษตรกรสามารถที่จะมาไถ่ถอนได้ ซี่งทางสหกรณ์/สถาบันเกษตรกรจะต้องออกใบประทวนในการรับฝากข้าว คาดว่าประมาณกลางเดือนตุลาคม 2561 จะมีหลักเกณฑ์ออกมา ในวิธีการปฎิบัติในฐานะผู้รับฝากข้าว อย่างไรก็ดีรัฐบาลต้องการให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์สูงสุดในโครงการนี้

595959859