EXIM Bank หั่นดอกเบี้ยหนุน SME จัดให้1.5หมื่นล้านบุกตลาด/สินค้าใหม่

25 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
เอ็กซิมแบงก์ฉลองครบรอบ 22 ปีจัดหนักคิดดอกเบี้ยลดพิเศษ 3.99% ต่อปี สำหรับผู้ส่งออกที่ไม่เคยใช้วงเงินกับธนาคาร หนุนรายเก่าพัฒนาโปรดักส์-หาตลาด-ประเทศใหม่ ส่ง 2 ผลิตภัณฑ์ "สินเชื่อทวีค่า" ทุนหมุนเวียนก่อน-หลังส่งสินค้าแถมประกันความเสี่ยงผู้ซื้อเบี้ยวหนี้อีก 5ล้าน พร้อมเปิด "บริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า" เพิ่มสภาพคล่องเพียงใช้บุคคลค้ำประกัน "เขมทัศน์" ยอมรับโอกาสทำกำไรลดลง-หวังหาช่องช่วยลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงิน-ลดต้นทุน

ในวาระครบรอบ 22 ปี (17ก.พ.59) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5% พร้อมเสนอโปรโมชั่นพิเศษนำร่องจาก 2 บริการ "สินเชื่อส่งออกทวีค่า" และ "บริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า" คิดอัตราดอกเบี้ยลดพิเศษเหลือ 3.99 ในปีแรก (จากปกติอยู่ที่ 6.5% ต่อปี) และปีที่สองคิดดอกเบี้ยอัตรา Prime Rate ลบ 1.5% ต่อปี

นายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า สินเชื่อส่งออกทวีค่า เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแถมการชดเชยความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยได้รับการยกเว้นค่าวิเคราะห์ผู้ซื้อและค่าเบี้ยประกัน วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย หรือเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่าวงเงินรับประกันสูงสุด 5 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนลูกค้ารายใหม่และลูกค้าปัจจุบันที่ต้องการบุกตลาดใหม่หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างมีสภาพคล่องและมั่นใจได้ว่า ส่งออกแล้วได้เงินแน่นอน

ส่วน "บริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า" เป็นบริการสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายหลังจากที่มีการส่งออกแล้ว วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ผู้กู้ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น

สำหรับเป้าหมายในการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวนั้น โดยรวมทั้ง 2ผลิตภัณฑ์ตั้งเป้าไว้จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อส่งออกทวีค่าจำนวน 1หมื่นล้านบาทและบริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่าอีกจำนวน 5พันล้านบาท ทั้งนี้คาดว่า จะมีลูกค้าใช้บริการเต็มวงเงินภายในเดือนมิถุนายน (จากที่เปิดให้ลูกค้าเสนอขอสินเชื่อตลอดทั้งปี 2559) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ใช้บริการอย่างน้อย 500 ราย (คำนวณจากวงเงิน 20ล้านบาทต่อราย) จะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 1,668 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอและไม่มั่นใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจส่งออกหรือส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ที่ผ่านมาเบื้องต้นมีลูกค้ารายใหม่ให้ความสนใจแล้วกว่า 2 พันล้านบาท

"กลุ่มเป้าหมายลูกใหม่นั้น รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยและ Start up ด้วย คือ ถ้าคุณสมบัติเข้าเกณฑ์สามารถกู้ได้ทันที แต่เงื่อนไขคือ อย่านำวงเงินกู้ไปรีไฟแนนซ์และลูกค้าปัจจุบัน ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือส่งสินค้าไปยังประเทศใหม่ (ตลาดใหม่) ซึ่งเราจะให้แยกเป็น 2 วงเงิน"

นายมนัสกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันธสน.พยายามจะพัฒนาแพ็กเกจทางการเงินใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย การวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างแบรนด์ที่แตกต่าง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือขยายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ การพัฒนาพลังงานทดแทน โลจิสติกส์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ การสนับสนุนการส่งออกและบริการของไทยโดยให้แพ็กเกจทางการเงินแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ไปจนถึงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

ต่อข้อคำถามถึงโอกาสทำกำไรในปีนี้ นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการธสน. หรือเอ็กซิมแบงก์กล่าวว่า แนวโน้มความสามารถในการทำกำไรอาจลดลงบ้างจากปีก่อน (กำไรกว่า 1.5 พันล้านบาท) ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนดำเนินการ ซึ่งธนาคารนำสภาพคล่องที่ได้จากแหล่งทุนอื่นเพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อโดยต้นทุนจะขยับได้เรื่อยๆ และการออกโปรโมชั่น 2 ผลิตภัณฑ์ธสน.คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด (ตลาดคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี)

อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่า จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออกหน้าใหม่ที่ไม่เคยใช้บริการธสน.เข้ามา ไม่ต่ำกว่า 400 รายจากปัจจุบันฐานลูกค้ามีอยู่ประมาณ 2 พันรายโดยจะคละกันทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่

ส่วนสัญญาณความต้องการสินเชื่อช่วงต้นปีนี้แนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกับปีก่อนสะท้อนถึงการฟื้นตัวของลูกค้าและการทำตลาด โดยธสน.จะเน้นตลาด CLMV มากขึ้น แต่ในแง่ของการป้องกันความเสี่ยงนั้นส่วนใหญ่ผู้ส่งออกไทยยังให้ความสำคัญน้อยมากเข้าใจว่า ลูกค้าที่ป้องกันความเสี่ยงมีเพียงหลักร้อยเท่านั้น แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารจะให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องก็ตาม ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)จะทยอยลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 5.43% มูลหนี้ 3.99 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดโลกมีการดำเนินนโยบายที่สวนทางกันทั้งการเพิ่มและลดการอัดฉีดสภาพคล่องของบางประเทศ ประกอบกับความผันผวนของตลาดโลก และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบตลาดส่งออกแคบลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งออกไปในตลาดยุโรป สหรัฐฯ และจีน แต่โอกาสการทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMC ( กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าขนส่งคมนาคมอยู่ในอัตราถูกและรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกทั้งปีนี้ไว้ที่ 5%

ดังนั้น ธสน.จึงพยายามสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการส่งออก ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินและต้นทุนดอกเบี้ยที่ปรับลดลงดังกล่าว จะช่วยให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น ที่สำคัญลูกค้าบางรายกำลังจะขยายธุรกิจไปอีกตลาด ขณะที่ผู้ส่งออกเกิดใหม่นั้นอาจจะล้มหายไปภายใน 2 ปี แต่จุดเด่นของธสน. คือ บริการประกันความเสี่ยงจะช่วยผู้ส่งออกให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินและลดต้นทุนด้วย นอกจากนี้โปรโมชั่น 2 ผลิตภัณฑ์ที่ออกมายังยกเว้นค่าวิเคราะห์ผู้ซื้อ (ที่อื่นจะคิดเฉลี่ย 1.8พันบาทต่อราย) และค่าเบี้ยประกันให้ลูกค้าด้วย

"โดยทั่วไปความเสี่ยงยังคงมีอยู่ อย่างแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนรวมทั้งเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า จึงแนะนำให้ผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงไว้ โดยอย่าไปคาดหวัง Extra จากอัตราแลกเปลี่ยนเลย หรือแม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณผู้ซื้อเบี้ยวการชำระค่าสินค้าแต่เราตั้งใจแนะนำผู้ส่งออกมาใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวและเมื่อได้รับเงินกู้แล้ว จะได้รับความคุ้มครองกรณีที่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าด้วย" นายเขมทัศน์กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559