เทคโนโลยีเพิ่มความไว้ใจ ... ลดพรมแดนระบบการเงินและธนาคารกลาง

26 ก.ย. 2561 | 05:31 น.
BOT-Symposium-2018_๑๘๐๙๒๔_0009

งานสัมมนาประจำปี 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้หัวข้อ "สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง" โดย "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการ ธปท. ระบุตอนหนึ่งว่า หัวใจสำคัญของระบบการเงินและธนาคารกลาง คือ ความไว้วางใจ ซึ่งความก้าวหน้าของพัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังสร้างรูปแบบความไว้วางใจ ด้วยการลดข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูล ลดเส้นแบ่งพรมแดนใน 3 มิติ คือ พรมแดนระหว่างประเทศ บริษัท และประเภทธุรกิจ โดยเห็นได้จากผู้ประกอบการรายใหม่สร้างนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ หรือ สถาบันการเงิน ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจโทรคมนาคม ฟินเทค อี-คอมเมิร์ซ เหล่านี้ทำให้ตัวกลางทางการเงินเปลี่ยนไป สร้างผลิตภัณฑ์ที่เจาะจงลูกค้าเป็นรายตัวและประเมินความเสี่ยงด้านข้อมูลและทุกด้านให้ครอบคลุม

 

[caption id="attachment_323746" align="aligncenter" width="503"] “วิรไท สันติประภพ” “วิรไท สันติประภพ”[/caption]

มองไปในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น นำมาสู่ความท้าทายธนาคารกลางในหลายมิติ ทั้งด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งอาจรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดจากอีกซีกโลก การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ขยายวงกว้างโดยไม่จำกัดเฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น หรือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา บนปัจจัยตลาดโลกที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปรากฏการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้น การรักษาเสถียรภาพด้านราคาต้องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ท่ามกลางแรงกดดันและความต้องการในช่วงสั้น ๆ ความสนใจจะให้ความสำคัญกับประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าผลข้างเคียง และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดในอนาคต

ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินในระยะยาว โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งหน่วยงานผู้กำกับ ผู้สนับสนุนการพัฒนากับภาคเอกชน บนพื้นฐานของความเข้าใจในศักยภาพและความเสี่ยงของเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งระบบการศึกษา ทักษะแรงงานผลิตภาพผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับตํ่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กฎระเบียบที่ล้าสมัย ความเหลื่อมลํ้าในโอกาสและรายได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนศักยภาพและเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวท่ามกลางความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่ต้องรับมือควบคู่กัน

"การดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากอัตราดอกเบี้ย ยังมีหลายเครื่องมือ เรายึดหลัก Data Independent คือ ต้องประเมินสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาเป็นระยะ ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ ต้องชั่งนํ้าหนักและพัฒนาการเทคโนโลยี ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อไม่สูง แต่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ทีมงานกำลังศึกษาความเปราะบางภาคการเงินระยะต่อไป ว่า มีเรื่องใดบ้าง โดยจะดึงเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในกรอบตัดสินนโยบายการเงิน"

อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยเรื่อง "ไขปริศนาเงินเฟ้อตํ่าด้วยราคาสินค้าออนไลน์และออฟไลน์" ซึ่งทีมงานจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนว่า ปรากฏการณ์เงินเฟ้อไม่ตอบสนองภาวะเศรษฐกิจ โดยเห็นได้ว่า แม้หลายประเทศเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อกลับไม่ฟื้นตาม

ซึ่งผลวิจัยสรุปได้ว่า เกิดจาก 1.การใช้ข้อมูลระดับรายย่อย ทำให้เข้าใจเงินเฟ้อภาพรวมดีขึ้น หมวดอาหารสดและพลังงาน สามารถอธิบายแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ 15% 2.ทางการสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยไม่ต้องกังวล เพราะอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงตํ่ามาจากปัจจัยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่ใช่เชิงโครงสร้าง 3.เงินเฟ้อมีแนวโน้มเปลี่ยนต่อไปในอนาคต ซึ่ง ธปท. ต้องคอยระแวดระวัง เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยข้อมูลออนไลน์อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินเฟ้อในอนาคต

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,404 วันที่ 27 - 29 กันยายน พ.ศ. 2561

595959859