"กรมสุขภาพจิต" ประสบผลสำเร็จ!พัฒนาเครื่องตรวจวินิจฉัยภาวะ "ออทิสติก" เด็กไทย ชุดแรกของประเทศ!!

26 ก.ย. 2561 | 05:06 น.
กรมสุขภาพจิตประสบผลสำเร็จพัฒนาเครื่องตรวจวินิจฉัยภาวะ "ออทิสติก" เด็กไทย ชุดแรกของประเทศ!! ตรวจพบได้เร็วตั้งแต่อายุ 12 เดือน เตรียมโชว์ในเวทีวิชาการระดับโลก!! เผย ขณะนี้มีเด็กป่วยใหม่เพิ่มวันละ 13 คน ปีละเกือบครึ่งหมื่น

กรมสุขภาพจิตวิจัยพัฒนาเครื่องตรวจวินิจฉัยภาวะออทิสติกในเด็กไทยโดยเฉพาะเป็นผลสำเร็จ สามารถพบความผิดปกติของเด็กได้เร็วกว่าเดิม ตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบ ให้การรักษาฟื้นฟูได้เร็วขึ้นและให้ผลดีมาก ทั้งพัฒนาการและไอคิว จดลิขสิทธิ์เป็นภูมิปัญญาของประเทศแล้ว เตรียมนำเสนอในเวทีโลกที่อังกฤษ วันที่ 27-28 ก.ย. นี้ คาดใช้ทั่วไทยในปีหน้า เผยสถานการณ์ล่าสุด พบเด็กป่วยออทิสติกรายใหม่ปีละเกือบ 5,000 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน แนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น


ภาพอธิบดี

น.ต. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็กเล็กที่กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการป้องกันแก้ไขขณะนี้ คือ ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งพบมากในอันดับต้น ๆ ของเด็กไทย สาเหตุเกิดจากความผิดปกติการทำงานของสมองตั้งแต่กำเนิด เด็กกลุ่มนี้ลักษณะภายนอกจะไม่ผิดปกติร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงน่ารัก แต่เด็กจะมีพัฒนาการบกพร่อง 2 ด้านหลัก คือ ไม่สามารถใช้ภาษาสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้ และมีพฤติกรรมความสนใจที่มีลักษณะแคบจำกัด หรือเป็นแบบแผนพฤติกรรมซ้ำ ๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่า เกิดมาจากการเลี้ยงดู หรือ ถ่ายทอดมาจากบุคลิกของพ่อแม่ ไม่ได้เป็นอะไร ทำให้เด็กไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง กลายเป็นผู้ที่มีความพิการตลอดชีวิต สถานการณ์ของภาวะออทิสติกในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมาก ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุด ในปี 2558 พบเด็กไทยอายุ 0-5 ปี มีอัตราป่วย 6 ต่อ 1,000 คน เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว ในรอบ 11 ปี คาดว่าทั่วประเทศมีประชาชนไทยทุกวัยเป็นออทิสติกประมาณ 400,000 คน มีรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5,000 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน เข้าถึงบริการรักษาฟื้นฟูแล้วร้อยละ 44


ภาพการประเมินเด็ก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เด็กที่เป็นออทิสติกนี้สามารถรักษาได้ แม้ไม่หายขาด แต่จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ เรียนหนังสือ และทำงานได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยผลการรักษาจะดีที่สุดเมื่ออายุต่ำกว่า 3 ขวบ แต่ที่ผ่านมา การรักษาส่วนใหญ่จะเริ่มหลังอายุ 3 ขวบไปแล้ว เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในปัจจุบันเป็นของต่างประเทศ บางส่วนไม่เหมาะกับบริบทของเด็กไทย จึงได้เร่งพัฒนาระบบการดูแลรักษา โดยในปีนี้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเด็กที่เป็นออทิสติก ได้ตั้งแต่อายุ 12-48 เดือน เป็นผลสำเร็จ เรียกว่า ทีดาส (Thai Diagnostic Autism Scale : TDAS) เป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัยสำหรับเด็กไทยโดยเฉพาะ จากการทดลองใช้ทั้ง 4 ภาค พบว่า มีความแม่นยำสูง ได้มาตรฐานเทียบเท่าเครื่องมือระดับนานาชาติ ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสติกเครื่องมือแรกของประเทศ และเตรียมนำเสนอความสำเร็จนี้ในเวทีประชุมออทิสติกโลก (International Conference on Autism) ซึ่งจัดที่ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 27-28 ก.ย. 2561 นี้ด้วย คาดว่าจะนำใช้ทั่วประเทศในปี 2562 นี้ มั่นใจว่าจะช่วยเด็กที่เป็นออทิสติกได้รับการรักษาเร็วขึ้นตั้งแต่ยังเล็ก จะคลายทุกข์ใจให้พ่อแม่ได้อย่างมาก


ภาพหมอประเมินเด็ก

ทางด้านแพทย์หญิงกาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เด็กที่เป็นออทิสติกที่พบโดยทั่วไป ร้อยละ 50 จะไม่สามารถพูดสื่อสารได้ อีกประมาณร้อยละ 50 จะมีระดับไอคิวต่ำด้วย ในช่วงขวบปีแรก เด็กมักจะไม่สบตา หน้าตาเฉยเมย เรียกชื่อก็ไม่หันมอง ไม่ยิ้มตอบ ไม่หัวเราะ ไม่ชอบให้อุ้ม ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใด ๆ ไม่มีภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร เช่น การชี้นิ้วบอกความต้องการ ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่งเสียง ซึ่งเป็นอาการที่ตรงกันข้ามกับเด็กปกติ ประชาชนทั่วไปมักจะพูดว่าเป็นเด็กเลี้ยงง่าย เพราะไม่ค่อยงอแง อาการผิดปกติจะเริ่มเห็นชัดขึ้นในขวบปีที่ 2 เด็กจะพูดเป็นคำ ๆ ไม่ได้ และพูดภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย หรือที่เรียกว่า ภาษาจากอน ( Jagon) ที่ตัวเองเข้าใจคนเดียว

เครื่องมือทีดาส สำหรับตรวจวินิจฉัยเด็กที่เป็นออทิสติกของไทยชุดนี้ จะใช้ในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยขั้นยืนยันในกลุ่มเด็กอายุ 12-48 เดือน ที่ตรวจพบว่า มีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติ โดยบุคลากรสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา และนักแก้ไขการพูดสามารถใช้ได้ด้วย ซึ่งหลักการวินิจฉัยเด็กที่เป็นออทิสติกจะต้องใช้เครื่องมือประเมินเพื่อสังเกตอาการและพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกประกอบการพิจารณาของแพทย์ด้วย ช่วยให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วก่อนอายุ 3 ขวบ และได้รับการรักษาฟื้นฟูต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงที่เซลล์ประสาทในสมองกำลังพัฒนาการทำงาน สมองก็จะได้รับการกระตุ้นและกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ความบกพร่องทางพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กจะน้อยลง รวมทั้งมีผลต่อไอคิวด้วย จะฉุดไอคิวขึ้นมาทัดเทียมกับเด็กที่มีพัฒนาการปกติ หากเด็กได้รับการฝึกให้สื่อสารใช้ภาษาได้เร็ว จะลดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ดีด้วย

ทางด้านแพทย์หญิงดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญ ประจำสถาบันพัฒนาการเด็กฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยฯ นี้ ดำเนินการระหว่าง 2559-2561 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ชุดเครื่องมือตรวจวินิจฉัยจะมีชุดอุปกรณ์ของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก ซึ่งได้จากการวิจัยทั้งหมด 12 รายการ ได้แก่ รถยนต์ ลูกบอล หุ่นรูปสัตว์ บล็อกไม้ โทรศัพท์ของเล่น ตุ๊กตาเด็ก ของเล่นเสริมทักษะพัฒนาการ 5 ด้าน คือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กหยิบจับ พัฒนาการภาษา การมอง การใช้มือ และการได้ยิน พัดลมตั้งโต้ะจิ๋ว กล่องใส ชุดเป่าฟองสบู่ ชุดเครื่องครัวและอาหารจำลอง และผ้าสี่เหลี่ยม รวม 47 ชิ้น ใช้ต้นทุนผลิต 10,500 บาท การใช้จะต้องใช้ 2 ส่วนประกอบกัน คือ 1.การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ครอบคลุมทั้งด้านความบกพร่องในการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กในหลาย ๆ สถานการณ์ และด้านพฤติกรรมความสนใจของเด็ก และ 2.การสังเกตพฤติกรรม โดยบุคลากรจะสังเกตเด็กขณะเล่นชุดเครื่องมือใน 6 กิจกรรมทดสอบ ได้แก่ 1.กิจกรรมการเล่นอิสระ 2.กิจกรรมการเรียกชื่อ 3.กิจกรรมเก็บของเล่นใส่กล่อง 4.กิจกรรมเป่าฟองสบู่ 5.กิจกรรมทำอาหาร 6.กิจกรรมจ้ะเอ๋และปูไต่ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที


595959859