ขีดเส้นเขตเลือกตั้งจบ 5 พ.ย. !! 23 จังหวัด สู้ไฟแลบชิงพื้นที่

25 ก.ย. 2561 | 10:28 น.
250961-1713

ขยับรับสัญญาณเลือกตั้งกันคึกคัก!
 บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย หลังคลายล็อกต่างเรียกประชุมกรรมการบริหารต่อด้วยนัดประชุมใหญ่พรรค เพื่อจัดขบวนภายในเตรียมลงสนาม เช่นเดียวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หัวขบวนใหญ่การจัดเลือกตั้งทยอยออกข้อกำหนดกติกาต่าง ๆ ออกมาเป็นระลอก

ล่าสุด ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่พึงมี ออกมาแล้ว เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 350 คน คำนวณจากจำนวนประชากรแล้วได้สัดส่วนราษฎร 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน มี 23 จังหวัด ที่จำนวน ส.ส. ลดลง จากการเลือกตั้งครั้งก่อน อีก 54 จังหวัด มีคงเดิม

เมื่อแยกเป็นรายภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน มี ส.ส.เขตเลือกตั้ง ลดลงมากที่สุด จากเดิมมี 126 คน เหลือ 116 คน ลดลง 10 คน , ภาคกลาง เดิมมี 82 คน เหลือ 76 คน ลดลง 6 คน , ภาคเหนือและภาคใต้ ลดลงภาคละ 3 คน โดยภาคเหนือเดิมมี 36 คน ลดเหลือ 33 คน ภาคใต้เดิม 53 คน เหลือ 50 คน ส่วนภาคที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ภาคตะวันออก มี ส.ส. 26 คน และภาคตะวันตก มี ส.ส. 19 คน เท่าเดิม


GP-3403_180925_0020

ก่อนลงสนามสู้กับคู่แข่ง เกมการเมืองแรกที่จะร้อนแรง คือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 23 จังหวัด ที่เขตเลือกตั้งลดลง โดยในภาคอีสานมีถึง 10 จังหวัด เนื่องจากต้องมีการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่ต่างไปจากครั้งก่อน ที่นักการเมืองในแต่ละพื้นที่ต้องวิ่งล็อบบี้ขาขวิด ตั้งแต่ระดับ กกต.จังหวัด จนถึงส่วนกลาง เพื่อให้ตัดแบ่งพื้นที่ฐานเสียงเข้าเขตที่ตนจะลงสนาม 3 รูปแบบ ที่เป็นตุ๊กตาเบื้องต้นนั้น ต้องยื้อกันไฟแลบ

 

[caption id="attachment_323379" align="aligncenter" width="503"] อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)[/caption]

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเวลา 90 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ กกต. จะแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน อีก 30 วันที่เหลือ เปิดให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกผู้สมัคร

โดยขั้นตอนการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อจากนี้ ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ 1.ภายใน 14 วัน (19 ก.ย. ถึง 3 ต.ค.) ผอ.กกต.จังหวัด ไปแบ่งเขตเลือกตั้งตามจำนวน ส.ส. ใน 3 รูปแบบ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น พื้นที่ต่อเนื่องกัน จำนวนประชากรเฉลี่ยใกล้เคียงกัน 2.ภายใน 10 วัน (4-13 ต.ค.) ผอ.กกต.จังหวัด ติดประกาศเขตเลือกตั้ง 3 รูปแบบ ที่จัดทำขึ้นที่สำนักงาน กกต.จังหวัด เพื่อฟังความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน

3.ภายใน 3 วัน (14-16 ต.ค.) ผอ.กกต.จังหวัด ประมวลความเห็นที่ได้รับ สรุปแล้วจัดส่งให้ กกต. และ 4. กกต. มีเวลา 20 วัน (17 ต.ค. ถึง 5 พ.ย.) ในการพิจารณารูปแบบเขตเลือกตั้งที่ดีที่สุด เพื่อประกาศเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

รวมใช้เวลาในขั้นตอนของสำนักงาน กกต. 50 วัน ตามระเบียบ กกต. และคาดการณ์ว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินการจัดหาผู้สมัครลงเลือกตั้งต่อไปในกรอบเวลาประมาณ 30 วัน

 

[caption id="attachment_323390" align="aligncenter" width="503"] ©Clker-Free-Vector-Images ©Clker-Free-Vector-Images[/caption]

โดยเมื่อพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เป็นการเริ่มนับถอยหลังการเลือกตั้งภายใน 150 วันนั้น พ.ต.อ.จริงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต. จะเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง ภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา ทั้งนี้ ยืนยันว่า กกต. มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งได้ทันภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ส่วนเกณฑ์การแบ่งเขตตามจำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามตัวเลขของสำนักทะเบียนกลาง ที่ประกาศ 1 ปี ก่อนการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด โดยวิธีการแบ่งเขตจะนำจำนวนประชากรหารด้วย ส.ส. 350 คน ครั้งนี้ได้จำนวนประชากรเฉลี่ยประมาณ 189,110 คนต่อ ส.ส. 1 เขต

อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรจริงอาจมีการเปลี่ยนแปลง หลังการประกาศจากสำนักทะเบียนกลาง แต่จะไม่มีผลต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมการหารือกับพรรคการเมือง ในวันที่ 28 กันยายนนี้นั้น ทาง กกต. ได้จัดส่งหนังสือไปยังพรรคการเมืองแล้ว


……………….
เกาะติดเลือกตั้ง เซกชัน : การเมือง โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23-26 ก.ย. 2561 หน้า 14

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เลือกตั้ง-ศก.ไทยขยายตัวหนุน SETจับตาประชุม FOMCทิศทางFund Flow
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ยืนหนึ่ง! ปชช. ยังหนุนเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว