"Eat’em all" คว้าแชมป์ "สตาร์ตอัพ แบทเทิลกราวด์"

25 ก.ย. 2561 | 08:39 น.
"Eat’em all" คว้าแชมป์แฮคกาธอน Startup Battleground ควบแชมป์สตาร์ทอัพสาย "Green Tech" รับรางวัลรวมกว่า 6 แสนบาท พร้อมสิทธิ์ร่วมดูงานที่สิงคโปร์ เตรียมต่อยอดแอพ แก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

คณะผู้บริหาร


ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการจัดแข่งขันแฮคกาธอนครั้งยิ่งใหญ่ "Startup Battleground" โดยสำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (depa) ร่วมกับ บริษัท ฮับบา จำกัด (HUBBA Thailand) และเทคสตาร์ส (Techstars) แอคเซอเลอเรเตอร์ชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการแข่งระดมไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ใน 10 หัวข้อ ต่อยอด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ผลปรากฏว่า ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นสุดยอดของทั้ง 10 หัวข้อ รับรางวัลรวมกว่า 6 แสนบาท คือ ทีมสตาร์ทอัพสาย Green Tech "Eat’em all" ซึ่งเป็นการรวมตัวของทีมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผู้สมัครเข้าร่วมงาน Startup Battleground กว่า 500 คนรวมตัวบนเวที

สำหรับการแข่งขัน Startup Battleground เป็นการแข่งขันแฮคกาธอนที่เปิดรับผู้สมัครเป็นสตาร์ทอัพระดับตั้งไข่ (Seed Stage) มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้นกว่า 500 คน ใน 10 หัวข้อ ที่จะมาต่อยอดกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการจัดอบรมผู้เข้าแข่งขันอย่างเข้มข้น โดยวิทยากรที่คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันสุดท้ายของงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018 ผู้ชนะสูงสุดในการแข่งขัน (Winner) จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5 แสนบาท พร้อมตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และสิทธิ์เข้าร่วมงาน Rakuten Accelerator ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ชนะในแต่ละหัวข้อ (Track Master) จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รวมมูลค่าเงินรางวัลกว่า 1.5 ล้านบาท


ผู้ชนะทั้ง 10 ทีมขึ้นรับรางวัลในการแข่งขัน Startup Battleground

ด้าน นายพศิน โอภาสพิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง Eat’em all และนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมเป็นสตาร์ทอัพระดับตั้งไข่ (Seed Stage) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนิสิต 2 คณะ ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนานวัตกรรมขึ้น ภายใต้ชื่อ Eat’em all เป็นแพลทฟอร์มสำหรับซื้อขายอาหารส่วนเกินในราคาส่วนลด มุ่งเน้นจะช่วยเพิ่มกำไรให้กับร้านค้าพร้อมทั้งลดปัญหาอาหารเหลือทิ้งในร้านอาหาร


ดร.พิเชฐ

ปัจจุบัน แพลทฟอร์ม Eat’em all ให้บริการอยู่บนช่องทาง LINE BOT มาแล้วประมาณ 1 เดือน มีผู้ใช้บริการเป็นประจำในแต่ละสัปดาห์ (Weekly Active Users) อยู่ที่ประมาณ 900 คน เชื่อมต่อกับร้านค้าอีก 15 ร้านค้า หลังจากได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 6 แสนบาท ในครั้งนี้ จะนำไปต่อยอดพัฒนา Eat’em all ให้เป็นแอพพลิเคชัน พร้อมทั้งพัฒนาหรือเชื่อมโยงให้มีระบบขนส่งสินค้า (Delivery) ขยายประเภทร้านอาหาร จากเดิมที่เป็นร้านอาหารประเภทเบเกอรี่เป็นหลัก สู่ร้านอาหารประเภทอื่น ๆ รวมถึงขยายฐานผู้ใช้ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว