"เครื่องตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย" เพิ่มมูลค่า 'พลาสติก' สู่ "ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ"

28 ก.ย. 2561 | 02:37 น.
ส่วนที่1ของเครื่อง

ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ไอเดียเจ๋งเปลี่ยนโลก ประดิษฐ์ "เครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย" แปลงขยะขวดพลาสติกเป็นเส้นด้าย ... สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

ผลงานชิ้นนี้เป็นของ "เอกวิทย์ สายทับทิม", "สิรธีร์ พวงแย้ม" และ "พัฒนากร รุ่งเรืองไกรศิริ" โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจ็กต์ คือ ดร.บิณฑสันต์ ขวัญข้าว และว่าที่ ร.ต.หญิง ศิริวรรณ ศรีธรรมรงค์

ไอเดียในการสร้างนวัตกรรมชิ้นนี้ เกิดจากจุดเริ่มต้นที่มองเห็นปัญหาขยะจากขวดนํ้าดื่ม ที่เป็นขวดพลาสติกใส หรือ ขวดเพ็ต (PET) ซึ่งปัจจุบัน ขวดเหล่านี้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขยะพลาสติก เป็นขยะที่ใช้เวลานานกว่า 450 ปี ต่อ 1 ใบ กว่าจะย่อยสลาย หากนำไปหลอมละลายต้องใช้พลังงานและเกิดการสิ้นเปลือง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงต้องการเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านั้นให้กลายเป็น "เส้นด้าย" ถักทอขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่อไป โดยไม่ต้องนำไปหลอมละลาย

เครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย มี 2 กระบวนการหลัก คือ ส่วนที่ตัดขวดด้วยใบมีด จะได้เส้นด้ายที่แบนและมีความหนา จากนั้นเข้าสู่การเก็บเส้นด้าย อีกส่วนจะเป็นการดึงยืดเส้นด้ายด้วยความร้อนเพื่อลบเหลี่ยม ทำให้มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับเส้นเอ็น ซึ่งใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนผ่านแผ่นความร้อน กระบวนการสุดท้าย จะได้เส้นด้ายที่มีขนาดเล็ก ยาวและกลม เหมาะสมต่อการนำไปถักทอขึ้นรูป เพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกโฮมเท็กซ์ไทล์ เช่น ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ผ้ารองจาน ผ้าม่านเพื่อการตกแต่ง เป็นต้น


3

การใช้งานเครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย เริ่มต้นจากนำขวดพลาสติกใสที่มีความเรียบและไม่มีเหลี่ยม หรือ ลวดลาย มาตัดก้นขวดออกประมาณ 1-1.5 นิ้ว จากนั้นเริ่มตัดขอบขวดให้ได้ระยะ 2 มิลลิเมตร นำไปใส่ในเครื่องให้ปลายเส้นที่ตัดร้อยผ่านเครื่อง แล้วนำปลายเส้นที่ผ่านเครื่องร้อยเข้ากับแกนม้วนและหมุนแกนม้วน เพื่อดึงเส้นแบนออกมา นำปลายเส้นแบนเข้าสู่กระบวนการดึงยืดเป็นเส้นด้าย แล้วม้วนเส้นด้ายเก็บในหลอดด้าย เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุสิ่งทอต่อไป

"จากการทดลองถักทอด้วยเครื่องทอผ้าตัวอย่าง โดยใช้เส้นด้ายจากขวดพลาสติกเป็นเส้นด้ายพุ่ง และใช้เส้นด้ายอะคริลิกเป็นเส้นด้านยืน พบว่า สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้ และคุณสมบัติของเส้นด้ายดังกล่าวนี้ มีความแข็งแรง ค่อนข้างทนทานต่อการใช้งานได้เป็นอย่างดี เหมาะกับผลิตภัณฑ์โฮมเท็กซ์ไทล์" ตัวแทนทีมนักศึกษา อธิบาย

ดร.บิณฑสันต์ สรุปให้ฟังว่า เส้นด้ายจากขวดพลาสติกที่ได้จากเครื่องต้นแบบตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย เป็นการสร้างคุณค่าให้กับของเหลือใช้ หรือ ขยะจากขวดนํ้าดื่มในชีวิตประจำวัน โดยนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดปริมาณขยะ ด้วยการอาศัยความรู้เชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และจากสเกลเครื่องต้นแบบนี้ สามารถขยายสู่ภาคอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

ว่าที่ ร.ต.หญิง ศิริวรรณ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างของเส้นด้ายจากขวดพลาสติกขึ้นรูป เป็นชิ้นงานและใช้งานได้จริง เส้นด้ายมีความแข็งแรงและมีความใกล้เคียงกับเส้นเอ็น นับว่าเป็นแนวทางที่ดีในการที่จะช่วยลดปริมาณขวดนํ้าพลาสติกลงได้ ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี


หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,404 ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2561

23626556-10