‘ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์’ กลยุทธ์กระตุ้นต่อมคู่แข่ง

22 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า “ประเทศไทย” คือตลาดใหญ่ลำดับต้นๆในระดับเอเชียไปเสียแล้ว ทั้งในเรื่องการเป็นฐานผลิตหรือสปริงบอร์ดสำคัญในการส่งออกไปทั่วโลก ของยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น แอลจี ซัมซุง พานาโซนิค โตชิบา เป็นต้น ขณะที่การเติบโตด้านความต้องการในประเทศก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่หลายค่ายต่างพากันงัดกลยุทธ์ ปรับรูปแบบทางการตลาดให้หลากหลาย เพื่อเรียกลูกค้าให้ได้มากที่สุด

[caption id="attachment_32355" align="aligncenter" width="500"] ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์ ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์[/caption]

ล่าสุดกับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าค่ายยักษ์ใหญ่จากเกาหลีอย่าง "ซัมซุง" ประเดิมศักราชใหม่ด้วยการพลิกโฉมช็อปเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านสู่รูปแบบใหม่ ภายใต้ชื่อ “ ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์ (Samsung Open House)” ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา” ซึ่งจะมีการเปลี่ยนหน้าร้านให้เป็นเสมือนบ้าน ที่ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านระดับพรีเมี่ยมของซัมซุงครบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟและเครื่องดูด ด้วยการดีไซน์หน้าร้านกว้างขึ้นร่วมสมัยมากขึ้น ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ด้วยการแบ่งเป็นโซนกลุ่มผลิตภัณฑ์ในครัวที่ผู้บริโภคสามารถทดลองใช้จริงได้

[caption id="attachment_32354" align="aligncenter" width="500"] ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์ ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์[/caption]

รวมถึงติดตั้งไฮไลท์สำคัญ อย่าง Samsung CenterStage จอภาพอินเตอร์แอคทีฟหน้าจอสัมผัส ขนาดยักษ์ 85 นิ้ว ความละเอียดระดับ UHD โดยผู้บริโภคสามารถศึกษาเทคโนโลยีวิธีการใช้งานและรายละเอียดเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ซัมซุง รวมทั้งสามารถทดลองจับวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เข้ากับรูปแบบบ้านได้หลากหลายสไตล์อีกด้วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์มาให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดเรียกได้ว่า ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์ได้พลิกโฉมประสบการณ์การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านหน้าร้าน ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเห็นภาพเสมือนจริงก่อนการตัดสินใจซื้อ

ซึ่งโมเดลใหม่นี้ ประเทศไทยถูกปรับแต่งภายหลังจากที่บริษัทแม่ในประเทศเกาหลีได้ปรับโฉมหน้าร้านรูปใหม่คอนเซ็ปต์ “ซัมซุง โอเพ่น เฮ้าส์” ไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา และอีก 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเปิดตัวโมเดลใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558ใน 3 สาขา คือ สาขาเซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์ และสาขา เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ โดยวางเป้าหมายว่าจะปรับโฉมสู่ร้านรูปแบบใหม่ช่วงไตรมาสแรกจำนวนทั้งสิ้น 10 สาขาในเขตกทม.ก่อนที่จะขยายให้ครบ 50-60 สาขาในช่วงสิ้นปี และจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามโลเคชั่น เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนสูงกว่าสาขารูปแบบเดิมราว 5-6 เท่า

เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ภายหลังการเปิดตัวหน้าร้านรูปแบบใหม่ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นการตอบสนองความต้องการได้มากกว่า สูงกว่า และชัดเจนกว่า ก็จะได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี สามารถสร้างยอดขายเติบโตได้ 50% มีผู้เข้าเยี่ยมชมหน้าร้านเพิ่มกว่า 40% และช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าของกลุ่มเป้าหมาย ณ จุดขายได้สูงถึง 70% โดยมีข้อได้เปรียบของร้านรูปแบบใหม่คือลูกค้าสามารถเห็นรูปแบบของสินค้าได้จริง รวมไปถึงสามารถมองเห็นภาพได้หากต้องการวางไว้มุมไหนของบ้าน ขณะเดียวกันด้วยจอซัมซุง เซ็นเตอร์สเตจ จะทำให้ร้านสามารถบรรจุไลน์สินค้าของบริษัทได้ครบทุกชิ้นมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเปลืองพื้นที่ในการตั้งโชว์อย่างที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านนั้น หน้าร้านถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารกับผู้บริโภค เนื่องด้วยสินค้าประเภทนี้เป็นสินค้าที่ต้องใช้ความเกี่ยวข้องสูง (High Involvement Product) จึงทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ในเชิงลึกทั้งในแง่ของวิธีการใช้งานและความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาเทคโนโลยีและประโยชน์ที่ได้รับ รวมถึงมองหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนหรือคนในครอบครัวก่อนทำการตัดสินใจซื้อ นั่นคือเหตุผลของการปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ ในการนำโจทย์ด้านบรรยากาศที่สบายและเป็นกันเองเข้ามาตอบสนองความต้องการ เพื่อลดปัญหาความสับสนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท แต่ละรุ่นอีกทั้งยังสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจในการช้อปปิ้งอีกด้วย

เชื่อแน่ว่าภายหลังการเข้ามากระตุ้นตลาดของยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ จะช่วยให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น รวมไปถึงคู่แข่งค่ายใหญ่อีกหลายแบรนด์ ก็คงรอจังหวะดีๆงัดไม้เด็ดออกมาสู้ตายในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปีนี้อย่างแน่นอนเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559