เอกชนรุมจีบ'แคท'ทำตลาด 'MVNO'

22 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
เป็นเพราะ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กำหนดในร่างหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบ่ง Capacity (ศักยภาพในการรองรับเครือข่าย) จำนวน 10% ให้กับเอกชนที่มีความประสงค์จะทำการตลาดในลักษณะ MVNO (Mobile Virtual Network Operator หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ไม่ได้วางโครงข่ายเอง)

[caption id="attachment_32366" align="aligncenter" width="600"] เอกชนที่ยื่นทำโครงข่าย MVNO เอกชนที่ยื่นทำโครงข่าย MVNO[/caption]

ดูเหมือนว่าบรรดาค่ายมือถือ 3 ค่ายหลัก คือ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ,ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปักหลักเป็นผู้ให้บริการแต่เพียงรายเดียวเท่านั้น

นั่นจึงเป็นที่มาที่ผู้ประกอบการบางรายเบนเข็มไปขอทำการตลาดกับบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์มีสถานีฐานครอบคลุมถึง 14,000สถานี และ ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "MY by cat" เนื่องจากมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้

 5 รายได้รับอนุมัติแล้ว

สำหรับการทำตลาดมือถือในลักษณะ MVNO นั้น พอ.สรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ กสท.ได้ทำการอนุมัติให้เอกชนเข้ามาทำตลาดมือถือในลักษณะ MVNO แล้วจำนวน 5 ราย(ดูตารางประกอบ) โดยผู้ประกอบการ 3 รายใหม่ที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติม คือ บริษัท สามารถ-ไอ โมบาย จำกัด (มหาชน), บริษัท ดาต้าซีดีเอ็มคอมมูนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท ไวท์ สเปซ จำกัด

ปัจจุบันคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ กสท.ได้ติดตั้งเครือข่ายไว้จำนวน 14,000 แห่งเครือข่ายสามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 16 ล้านเลขหมาย ซึ่ง กสท. เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "MY" ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

 ปักธง "MVNO"

นอกจากนี้แล้ว พอ.สรรพชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับนโยบายของ กสท.นั้นผลักดันเรื่องการทำตลาด MVNO เป็นหลักซึ่งเมื่อมีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นการแข่งขันจะสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้การแข่งขันเรื่องราคาเริ่มเห็นชัดเจนแล้ว

"นโยบายของ กสท.นั้นผลักดันเรื่อง MVNO อย่างจริงจังเพราะต้องการให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นในตลาด"

ขณะที่เสนอการทำตลาดในลักษณะ MVNO จะต้องขอใบอนุญาติประเภทที่หนึ่งแบบไม่มีโครงข่ายจาก กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) หลังจากนั้นจึงจะมายื่นขอทำตลาดในลักษณะ MVNO กับ กสท.ได้ ส่วนเลขหมายโทรศัพท์ต้องไปขอจัดสรรจาก กสทช. ซึ่งในเบื้องต้น กสทช.อนุมัติให้กับผู้ประกอบการรายละ 2 แสนเลขหมาย

 ดาต้าซีดีเอ็มเอเปิดตัว MY WORLD

ด้านนายนิพนธ์ ชูเชิด กรรมการผุ้จัดการ บริษัท ดาต้าซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กสท.ได้อนุมัติให้บริษัทฯเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะ MVNO ซึ่งขณะนี้ได้ทำการตลาดภายใต้ชื่อแบรนด์ "MY WORLD network by cat" โดยจะซื้อแอร์ไทม์จาก กสท.เป็นรายนาที หรือ (Browser) จับกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่เน้นการใช้งานด้านดาต้า (ข้อมูล) เป็นหลัก และ จะจัดจำหน่ายอัตราแพคเกจในราคาที่ไม่สูง

"ประสบการณ์ของบริษัทฯที่ผ่านมาได้รับการแต่งตั้งจาก "ฮัทช์" หรือ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซีดีเอ็มเอ และ ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งให้กับทรู และ ทริปเปิลทีบอร์ดแบนด์ อีกด้วย"

สำหรับ แพ็คเกจ "MY WORLD" นั้นระบบเติมเงินแบ่งออกเป็น 3 แพคเกจ คือ MY super คุ้มโทรนาทีต่ำสุด 50 สตางค์,MY เม้าท์ชิลล์ โทรฟรีในเครือข่าย 24 ชั่วโมงเป็นต้น และ MY net ถูกตังค์ อินเตอร์เน็ตต่อนาที 50 สตางค์ เป็นต้น

 ไอ-โมบายต้องเปลี่ยนแปลง

ก่อนหน้านี้ นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) กล่าว สามารถ ไอ-โมบาย ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่การเป็น Smart Life Mobility พัฒนาบริการใหม่อย่างต่อเนื่อง และได้จัดกลุ่ม 5 บริการใหม่เพื่อรุกตลาดดิจิทัล คือ OPEN by i-Mobile เป็นจุดบริการมือถือ ทั้งการจำหน่ายเครื่องและบริการอื่น ๆ ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ไอ-โมบาย จะเน้นกลุ่มวัยรุ่น และ ผู้สูงอายุ เท่านั้น , iFixed by i-Mobile เป็นศูนย์บริการซ่อมสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ในตลาด อุปกรณ์ Gadget รวมถึงบริการรับชำระเงิน อี-เปย์เมนต์, Wapp Wapp เป็นการต่อยอดจากธุรกิจ EDT ให้เป็นอี-คอมเมรซ์ เช่น ไทยแลนด์ มอลล์ เน้นขายสินค้าผ่านบริการออนไลน์ และ บริการรับส่ง ,Aging Society เน้นบริการสินค้าเพื่อสูงอายุ และ เอนเตอร์เทนเม้นท์ เน้นบริการด้านกีฬา และ คอนเทนต์กีฬาต่าง ๆ

เชื่อว่าหลังจากนี้ตลาดมือถือคงดุเดือดมากขึ้นมี 3 รายใหญ่เป็นเจ้าตลาด และ ยังมีรายใหม่แต่เป็นผู้ประกอบการที่คว่ำหวอดในอุตสาหกรรมมือถือลงขันร่วมวงเป็นผู้ประกอบการ

นั้นหมายความว่าตลาดมือถือในปีนี้น่าจะมีสีสันไม่ใช่น้อย!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559