ชงปฏิรูปใหญ่ภาษี! อายุ 18 ต้องยื่น ภงด.

24 ก.ย. 2561 | 10:01 น.
240961-1650

กรรมการปฏิรูปกฎหมายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแก้ประมวลรัษฎากร เดินหน้าปฏิรูประบบภาษีก่อนเลือกตั้ง เผยข้อเสนอเด็ด กวาดทุกคนเข้าฐานภาษี ให้คนอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ เลิกข้อยกเว้นกิจการไม่เสียแวต ขยายเพดานรายได้ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 1.8 ล้าน เป็น 10 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่โรงแรมอโนมาแกรนด์ เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมงาน

 

[caption id="attachment_322629" align="aligncenter" width="503"] กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดเวที ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จึงเหลือเวลาอีก 6 เดือน นี่คือ โอกาสที่ประชาชนจะร่วมวางรากฐานในระบบรัษฎากรภาษีและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ควรตายใจรอว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะเป็นใคร โดยรัฐบาลนี้จะนำข้อเสนอแนะไปสู่เป้าหมาย เพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีอากรเป็นกลไกสำคัญในการหารายได้ การพัฒนาประเทศ กระจายความมั่งคั่งของประเทศและประชาชน

ด้าน นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้อำนวยการ กองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร กล่าวเสนอว่า ไม่ควรแก้ประมวลรัษฎากรแค่ระยะสั้น ๆ แต่ขอให้คิดเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว 20-50 ปีข้างหน้า โดยจินตนาการว่า โลกอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบัน เราใช้หลักคิดของประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ที่แม้จะแก้ไขเพิ่มเติมอะไรก็ใช้หลักคิดเดิม จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ

 

[caption id="attachment_322632" align="aligncenter" width="503"] ©stevepb ©stevepb[/caption]

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมาย ที่เป็นข้อเสนอในระยะเร่งด่วน มีทั้งหมด 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บและบริการภาษีอากร , 2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา , 3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล , 4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม , 5.ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ 6.ภาษีอากรแสตมป์

โดยในส่วนของประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีอากร และธรรมาภิบาลทางภาษีอากร เพื่อสร้างค่านิยมในการเสียภาษี คณะอนุกรรมการเสนอว่า ให้กำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ หรือมีเงินได้ถึงเกณฑ์หรือไม่ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ประชาชนเปิดเผยจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ตาม

 

[caption id="attachment_322633" align="aligncenter" width="503"] ©stevepb ©stevepb[/caption]

ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม คณะอนุกรรมการฯ พบว่า ปัจจุบัน ที่กำหนดบังคับเฉพาะผู้ประกอบการที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเจตนาแสดงรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง คณะอนุกรรมการฯ จึงเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มแบบปกติ (ภาษีขายหักภาษีซื้อ) จากเดิมรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ให้สูงขึ้น เช่น 10 ล้านบาทต่อปี

"โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แม้รายได้ต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีรายได้น้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนดให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียภาษีการขายจากรายรับ (Gross Income) ในอัตราต่ำ เช่น 2%"

รวมทั้งเสนอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี การว่าความ โรงเรียนกวดวิชา การให้บริการนักแสดง เป็นต้น และคงเหลือยกเว้นเฉพาะประเภทที่มีเหตุจำเป็นสมควรจริง ๆ


GP-3403_180924_0014

"ปัจจุบัน มีประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนมาก ทำให้เกิดความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบการรายหนึ่งอาจมีการประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้บังคับต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องรับภาระในการเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับแต่ละประเภทกิจการ และยังนำมาซึ่งปัญหาการตีความอีกด้วย"

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดและผลการรับฟังความคิดเห็น ทางสำนักงานจะนำไปประมวลเสนอต่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23-26 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทางออกนอกตำรา : ภาษีที่ดินฯ ทำให้ "ลุงตู่เสื่อม" สนช. ยื้อเพื่อ "ล้ม" ต้มคนไทย
โค้งสุดท้ายภาษีที่ดินแท้งหรือคลอด


เพิ่มเพื่อน
23626556-10