สถาบันยานยนต์หวังปั้น! องค์กรรุก 4.0 ยกระดับสู่สากล

23 ก.ย. 2561 | 08:53 น.
สถาบันยานยนต์ประกาศปรับวิสัยทัศน์สู่องค์กรสากล ในโอกาสครบ 20 ปี หวังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และเทคโนโลยียานยนต์ที่ทันสมัย รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่




55528

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวในโอกาสครบ 20 ปี สถาบันยานยนต์ ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จากอดีตจนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในระดับ 1 ใน 12 ของโลกได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการข้ามชาติที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตถึง 24 ราย เป็นรถยนต์ 17 ราย รถจักรยานยนต์ อีก 7 ราย ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 2 พันราย ในความสำเร็จเหล่านี้ สถาบันยานยนต์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการสนับสนุนข้อมูลการวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ภาครัฐได้นำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการภายในประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ การทดสอบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ และในทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ นับเป็นความสำคัญยิ่งที่สถาบันยานยนต์จะได้ทวีบทบาททำงานร่วมกับภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์ต่าง ๆ ตลอดจนภาคการศึกษา เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสามารถปรับตัวพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


52978900

ด้าน นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวในโอกาสครบรอบ "20 ปี สถาบันยานยนต์ กับทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์" ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษ อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ได้ผ่านวิกฤตการณ์ การแข่งขัน และเผชิญกับความท้าทายกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่าง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยยังคงยืนหยัด แข็งแกร่ง สามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 3 ล้านคันต่อปี ยอดส่งออกสูงมากกว่า 1 ล้านคันต่อปี ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP ประเทศ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และผู้เล่นรายใหม่ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในทศวรรษหน้าจะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Decade Of Change

โดยเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแห่งทศวรรษหน้า สถาบันยานยนต์ได้มีการทบทวนวิสัยทัศน์ บทบาท ภารกิจใหม่ จากการเป็นองค์กรแห่งความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ปี 2561 คือ องค์กรชั้นนำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสู่อนาคต ด้วยระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทันต่อยุคสมัย ดังพันธกิจหลักที่ได้กำหนดไว้ คือ การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการเป็นศูนย์ข้อมูลและความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการก่อตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ Next Generation Automotive Research Center เพื่อศึกษาและวิจัยแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมของยานยนต์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมอากาศยานและระบบราง เพื่อให้ผู้รับบริการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด


090861-1927-9-335x503-8-335x503-5-335x503

"ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสู่ Industry 4.0 ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีความรู้และทักษะในด้าน Industrial Automation อย่างมีระบบ และวัดความสามารถได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยระบบรับรองความสามารถบุคลากร รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่สายการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเสริมสร้างความรู้เรื่องเทคโนโลยียานยนต์ขั้นสูง และประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มาถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประจุไฟฟ้า ด้วยหลักสูตรที่ทันสมัยต่อความต้องการ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันยานยนต์กำลังมีความพยายามทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อยกระดับมาตรฐานยานยนต์ไทยสู่สากล จากยุคปัจจุบันไปสู่เทคโนโลยียานยนต์อนาคต"

นายอดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ทางสถาบันยานยนต์มีการจัดทำแผนปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ด้วยการขยายศักยภาพทางเทคโนโลยีเครื่องมือการทดสอบสำหรับมาตรฐานยานยนต์อนาคต การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทดสอบของสถาบันฯ และระบบงานมาตรฐาน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิคในระดับสากล ทั้งนี้ ภารกิจเร่งด่วน 4 เรื่องหลัก ที่สถาบันฯ กำลังโฟกัส คือ 1.การขยายศักยภาพทางเทคโนโลยี เครื่องมือการทดสอบ สำหรับมาตรฐานยานยนต์อนาคต 2.การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทดสอบของสถาบันฯ 3.การพัฒนาระบบงานมาตรฐาน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิคในระดับสากล และ 4.การสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่ได้มีการจัดสร้างขึ้น เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62