'มหิดล' เดินหน้าเต็มสูบ! สู่ "มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์"

24 ก.ย. 2561 | 02:23 น.
มหาวิทยาลัยมหิดลเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์มุ่งสู่ "มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์" (Eco-University) อย่างยั่งยืน ชูกลยุทธ์ส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ ริเริ่มโครงการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับบุคคลและคณะ เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ต่อไป

ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบจาก "ก๊าซเรือนกระจก" อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ผุดโครงการเพื่อส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำเมื่อต้นปี 2561 จำนวน 2 โครงการ มุ่งเป้าไปที่ระดับบุคคลและหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยทั้ง 2 โครงการ ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม

สำหรับโครงการในระดับบุคคล กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำ "โครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ" นำร่องกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 14 คน เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting Program) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมให้ซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง หรือ เท่ากับศูนย์

รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากกิจวัตรประจำวันของผู้บริหารแต่ละท่านเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรายบุคคล และดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยหลังสิ้นสุดโครงการ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 110.42 ตันคาร์บอนเทียบเท่า และมีปริมาณที่ชดเชย 118 ตันคาร์บอนเทียบเท่า

นอกจากนี้ สำหรับโครงการในระดับคณะกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดลได้มี "โครงการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล" นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และให้ความสำคัญกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มหาวิทยาลัยปล่อยออกมา โดยโครงการฯ จะประเมินข้อมูลการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ให้ส่วนงานดังกล่าวเป็นองค์กรต้นแบบ นำไปสู่การกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ที่กำหนดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ต่อไป

ล่าสุด คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นับเป็นหน่วยงานที่ 2 ต่อจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้ พร้อมด้วย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 14 คน ที่ผ่านโครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ จะได้รับมอบประกาศนียบัตร จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เช่นเดียวกัน โดยมี รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวแทนรับมอบ ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้

"ความสำเร็จนี้เป็นเพียงก้าวแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะเดินหน้าไปสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เราหวังว่า ทั้ง 2 โครงการนี้ จะนำมาซึ่งความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสังคมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย รวมถึงช่วยเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลและองค์กรในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งไปสู่การช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ และเป็นตัวอย่างให้แก่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ต่อไป" รศ. ดร.กิติกร กล่าวทิ้งท้าย


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว