'คณิศ' ปัดเอี่ยว 'ซีพี' เช่าที่รัฐตั้งเมืองใหม่!!

23 ก.ย. 2561 | 05:03 น.
230961-1150

'คณิศ' ยืนยัน สำนักงานอีอีซีไม่เกี่ยวข้องกองทัพเรือเตรียมนำที่ราชพัสดุ 4 พันไร่ ให้เครือซีพีเช่า ห่วงกระทบที่อยู่อาศัย เกษตรกรในพื้นที่

ปัญหาข้อพิพาทที่ราชพัสดุกว่า 4 พันไร่ บริเวณ อ.บางน้ำเปรี้ยว ระหว่างกองทัพเรือและชาวบ้าน ต.โยธะกา กว่า 600 คน ที่เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวทำการเกษตรมาเกือบ 100 ปี แต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญาเช่า พร้อมให้ส่งมอบคืนที่ดินให้แก่กองทัพเรือ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทหารเรือจะนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปให้บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ เช่า

 

[caption id="attachment_321952" align="aligncenter" width="359"] คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ซีพีจะไปเช่าพื้นที่กองทัพเรือใน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อจัดตั้งเมืองใหม่นั้น ในส่วนของอีอีซีคงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์และกองทัพเรือเป็นผู้พิจารณาจะอนุญาตให้เอกชนนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ หากภาครัฐเห็นชอบนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทางซีพีก็ต้องส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แต่งตั้งขึ้นมา ว่า เป็นไปตามเกณฑ์การจัดตั้งเมืองใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำอยู่เวลานี้หรือไม่ ประกอบกับทางซีพีก็ยังไม่ได้มีการเข้ามาหารือกับทางอีอีซีแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพเรืออยู่ในขณะนี้ มองว่า คงไม่สามารถจะยกพื้นที่ให้เอกชนรายใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ง่าย ๆ เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตรมานาน ซึ่งอีอีซีคงไม่เข้าไปยุ่ง

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เขียนไว้ในการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ ทางอีอีซีต้องการแค่พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษแล้วที่จะมาทำเป็นเมืองใหม่ อย่างเช่น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล หรือ อีอีซีไอ และเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นต้น ส่วนพื้นที่ราชพัสดุอื่น ๆ อีอีซีจะไม่นำมาใช้ในการจัดตั้งเมืองใหม่ในส่วนที่ภาครัฐดำเนินการ

 

[caption id="attachment_321960" align="aligncenter" width="503"] อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์[/caption]

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีที่ราชพัสดุใน 3 จังหวัดอีอีซี รวม 12,000 ไร่ โดยที่ได้ส่งมอบไปแล้วประมาณ 7 พันไร่ คือ สนามบินอู่ตะเภา 6,500 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบิน และอีก 759 ไร่ พัฒนาเป็นดิจิตอลพาร์ก ขณะนี้ยังเหลืออีก 4,000 ไร่ ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของทหารเรือและยังไม่ได้ส่งคืนกลับมา หากเอกชนจะไปเจรจาเช่าช่วงต่อจากทหารเรือโดยตรง ก็สามารถทำได้

"หากอีอีซีจะเอา เราก็มีหน้าที่ส่งมอบ จากนั้นจึงจะไปดูว่า บนพื้นที่ดังกล่าวมีใครอยู่บ้าง เกษตรกรหรือชาวบ้านเช่าพื้นที่อยู่เท่าไหร่ ก็เป็นหน้าที่เขาจะพิจารณา อาจจะให้เช่าเหมือนเดิมต่อไป ก็ตัดพื้นที่ส่วนนั้นออก และให้จ่ายค่าเช่ากับกรมธนารักษ์เหมือนเดิม หรือ ถ้าจะให้ออกจากพื้นที่ อีอีซีก็ต้องเป็นคนจ่ายค่าเวนคืน ขณะนี้เรายังเอื้อมไปไม่ถึงที่ 4 พันไร่"


112727-696x522

นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการติดตามปัญหาที่ดินบนที่ราชพัสดุใน ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ถือว่าน่าห่วงกว่าเดิม เพราะเดิมทีชาวบ้านมีปัญหากับกองทัพเรือ ก็ยังแก้ปัญหาไม่จบ แต่เมื่อมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ทำให้ปัญหาหนักยิ่งกว่าเดิม เพราะมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ที่ราชพัสดุของธนารักษ์ เอกชนสามารขอเข้าไปใช้ผ่านคณะกรรมการนโยบายอีอีซี โดยไม่ต้องผ่านธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทรา รัฐบาลจึงควรตั้งกลไกของคณะกรรมการอีอีซี ที่มีคณะทำงานรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

"สมมติว่า ถ้าให้ซีพีเช่าในราคาไร่ละ 5,000 บาทต่อปี แน่นอนว่า ในมิติทางเศรษฐกิจย่อมดีกว่าให้ชาวบ้านเช่า เพราะชาวบ้านเช่าไร่ละ 75 บาทต่อปี แต่ถามว่า การทำโครงการโดยที่ชาวบ้านไม่สามารถรู้ข้อมูล เป็นความชอบธรรมที่รัฐต้องตอบคำถามมากกว่าผลลัพท์ทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันยังอยู่ในลักษณะของการเอื้อการลงทุนอย่างเดียว สวนทางกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่กำลังจะทิ้งชาวบ้านจำนวนมากไว้ข้างหลังเสียเอง ดังนั้น การทำนโยบายอีอีซีต้องทำให้โปร่งใส ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,402 วันที่ 20-22 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
4 ผู้สมัครชิงเอ็มดี ‘อีลิทการ์ด’ เร่งขายสมาชิกใหม่ผนึกบีโอไอลงทุนอีอีซี
เปิดใช้ที่ดิน 'อีอีซี' 1.3 แสนไร่! ทางคู่เวนคืน 40 เมตร ระยะ 300 กม. - ไฮสปีดแจ๊กพ็อต 857 ไร่


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว