เผย 3 กรอบแผนแม่บท เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

23 ก.ย. 2561 | 03:07 น.
สศช. เร่งสรุปร่างแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในส่วนของกลุ่มที่ 4 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ก่อนเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดใหญ่ 27 ก.ย. นี้

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะอนุกรรมการร่างแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กลุ่มที่ 4 ยุทธศาสตรืด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า สำหรับความคืบหน้าในการยกร่างแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในส่วนของกลุ่มที่ 4 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่มี นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ เป็นประธานนั้น คณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างยกร่างแผนแม่บท ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอกลุ่มจังหวัดหลักและจังหวัดรองที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายช่วง 20 ปี ให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา


อ.ฐาปนา

โดยกลุ่มจังหวัดหลัก ประกอบด้วย ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร นครราชสีมา อุบลราชธานี, ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร สระบุรี ราชบุรี และระยอง, ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี สงขลา และภูเก็ต

"โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดให้พัฒนาอย่างเข้มข้นในช่วง 5 ปีแรก กับ 5 จังหวัด ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกจังหวัดเป็นตัวแทนของภาคต่อไป"

สำหรับจังหวัดรอง ประกอบด้วย ภาคเหนือ ลำปาง น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย มหาสารคาม นครพนม บุรีรัมย์ และมุกดาหาร, ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และสระแก้ว ส่วน ภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง ยะลา และกระบี่

โดยกรอบแนวทางในการยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เพื่อสร้างความเท่าเทียมและสร้างความเสมอภาคในการพัฒนาด้วยการกระจายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ดังนั้น จึงเสนอให้ยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานและกระจายพื้นที่เศรษฐกิจ ดังนี้ 1.หนึ่งจังหวัดหนึ่งสนามบิน หนึ่งศูนย์กลางคมนาคม หนึ่งระบบขนส่งมวลชน หนึ่งศูนย์โลจิสติกส์ หนึ่งศูนย์นวัตกรรมอัจฉริยะหรือศูนย์เศรษฐกิจดิจิตอล และการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์หรือจังหวัดหลักด้วยรถไฟทางคู่ ฯลฯ 2.หนึ่งจังหวัดจะต้องมีแหล่งงานที่มีความแข็งแกร่ง มีขนาดการจ้างงานสอดคล้องกับเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีจำนวนนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมนวัตกรรมหรือศูนย์ผลิตอัจริยะไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 1 แห่ง 3.หนึ่งจังหวัดหลักมีศูนย์เศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3 ศูนย์ ซึ่งตามแผน 20 ปี ศูนย์เศรษฐกิจทั้งหมดจะมีศักยภาพในการสร้างงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของแหล่งงานทั้งหมดในจังหวัด ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการผังเมืองจะต้องปรับปรุงผังเให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ตามแผน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว