บทบรรณาธิการ : ช้าก่อน"แบงก์ชาติ-กนง."

22 ก.ย. 2561 | 09:53 น.
 

 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา  มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี  เริ่มทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี เป็นการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อความในช่วงท้ายของการแถลง   ผลการประชุมกนง.ที่ระบุว่า “แต่การดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง”

 

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยหาก กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปก็จะทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า กระทบกับการส่งออก หัวจักรสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ พร้อมระบุว่า “ธปท.มีอิสระในการตัดสินใจ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศด้วย ไม่ใช่อิสระและให้ประเทศเป็นอย่างไรก็ได้”

นายอภิศักดิ์-ตันติวรวงศ์1

การขัดแย้งทางความคิดระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ กับรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาทุกยุค ทุกสมัย หลายต่อหลายครั้งที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรงถึงขั้นมีการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติออกจากตำแหน่ง บางยุคความขัดแย้งไม่รุนแรง แต่การดำเนินนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ไม่สอดคล้องกัน เช่น รัฐบาลต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ธปท.กังวลว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ จึงมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1525967027715

 

การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่สวนทางกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการอัดฉีดงบประมาณ ที่มาจากภาษีของประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และถ้าดูจากภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะขยายตัว 4.8% แต่การเติบโตก็ยังไม่กระจายตัวอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาลเองก็กำลังเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานนับล้านล้านบาท หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ย่อมกระทบต่อต้นทุนโครงการที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนของรัฐบาลและเอกชน อีกทั้งทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงนี้จึงไม่ควรหยุดความแจ่มใสทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ไม่ได้ร้อนแรงเกินไป

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3403 ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย.2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62