ปณทจับมือม.ศิลปากร ปรับโฉมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนเติมไอเดียเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

22 ก.ย. 2561 | 08:34 น.
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) จับมือ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเทศบาลตำบลด่านเกวียน จ.นครราชสีมา เดินหน้าสานต่อการดำเนินงานไปรษณีย์เพิ่มสุข ภายใต้โครงการไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า “เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน” ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการและเติมไอเดีย สู่ 5 ผลิตภัณฑ์ดีไซน์เก๋ ได้แก่ เครื่องประดับ ของที่ระลึก ของประดับตกแต่งในบ้าน ของใช้ในครัวเรือน และกระเบื้อง เพื่อตอบโจทย์ทุกการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์ลวดลายและขั้นตอนการผลิตดั้งเดิมของชุมชน พร้อมสนับสนุนการกระจายสินค้าและพัฒนาการขนส่ง เพื่อสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนด่านเกวียนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

pi

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เผยว่า ไปรษณีย์ไทย จับมือ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเทศบาลตำบลด่านเกวียน เดินหน้าเพิ่มมูลค่าสินค้า ปรับดีไซน์ (Redesign) “เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน” จังหวัดนครราชสีมา เครื่องปั้นดินเผาจากริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และพื้นผิวมันวาวสวยงาม ภายใต้การดำเนินงานไปรษณีย์เพิ่มสุขในโครงการ “ไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” โดยนำร่องพัฒนา 5 ผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องประดับ ของที่ระลึก ของประดับตกแต่งในบ้าน ของใช้ในครัวเรือน และกระเบื้อง ให้มีรูปลักษณ์ใหม่ และมีดีไซน์เฉพาะตัวที่พร้อม ตอบโจทย์ทุกการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน และพัฒนานวัตกรรมการขนส่งเครื่องปั้นดินเผา เพื่อให้สามารถส่งสินค้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ได้

pi1

สำหรับการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ไปรษณีย์ไทย ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม พร้อมทั้งเชื่อมโยงกลุ่มผู้ค้า และกลุ่มช่างปั้นเข้าด้วยกัน สร้างเครือข่ายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานรากสู่การปรับรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาให้มีความทันสมัยโดดเด่นมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน พร้อมประยุกต์ใช้องค์ความรู้มาพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนให้มีความสวยงามร่วมสมัย ถ่ายทอดเทคนิคการปั้นดินเผารูปแบบต่างๆ และการเขียนลวดลายสมัยใหม่สู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในอนาคต โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์การผลิตดั้งเดิมของชุมชน ที่มีส่วนของวัตถุดิบ การปั้น การตกแต่งลวดลาย และการเผาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี

pi2

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการอบรมยุวมัคคุเทศก์น้อยในชุมชนเพื่อให้สามารถนำนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมและเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชาวด่านเกวียนพร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณศูนย์เรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานไปรษณีย์เพิ่มสุข ภายใต้โครงการไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ของกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนี้ ไปรษณีย์ไทย มีความตั้งใจยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการพลิกฟื้นศิลปะการปั้นเครื่องปั้นดินเผาตามภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนให้คงอยู่สืบไป โดยในอนาคต ไปรษณีย์ไทย เตรียมผลักดันผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้สามารถส่งขายทั่วไทยผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ เพื่อเป็นการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนด่านเกวียนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นางสมร กล่าวทิ้งท้าย

pi3

pi4

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62