การเข้าร่วมCPTPPกับผลได้-เสียของประเทศไทย

25 ก.ย. 2561 | 09:37 น.
 

ความตกลง CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ และคาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับประมาณต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ คอลัมน์

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาผลได้-เสียจากการเข้าร่วม และพบว่ายังมีความกังวลต่อประเด็นสำคัญ อาทิ การมีผลบังคับใช้ในบางประเด็นข้อบทที่มีความอ่อนไหว ความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาที่ใช้ในการอ้างอิงการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP การเปิดตลาดสินค้าประเภท Modern Biotechnology การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือแพทย์มือสอง การห้ามเจรจาต่อรองราคายา การคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งมีเงื่อนไขที่เกินกว่าความตกลง Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights (TRIPS) ภายใต้องค์กรการค้าโลก การเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญา International Convention for the Protection of New Varieties of Plants (UPOV) 1991 และ Budapest Treaty on the International Recognition of the Deposit of Microorganisms for the Purpose of Patent Procedure ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้อำนาจผูกขาดของบริษัทผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช ในประเด็นของสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์ และสิทธิในพันธุ์พืชที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและผลกระทบต่อเกษตรกร การเปิดตลาดสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การเข้าร่วม CPTPP กับความสำคัญของการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตํ่าหรือไม่ได้มาตรฐาน TP8-3403-B

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของประเทศไทยจากการเข้าร่วม CPTPP ก็มีมากมาย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยเพิ่มขึ้นอีก 3.6% จากปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทั้งสินค้าที่มีการลดภาษีและกลุ่มของสินค้าอ่อนไหวที่ไม่มีการลดภาษี รวมถึงผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดในการลงทุนในประเทศสมาชิกอื่น การยกระดับมาตรฐานกฎหมายภายในประเทศ แต่หากประเทศไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้นักลงทุนจากกลุ่มประเทศสมาชิกหรือมีตลาดเป้าหมายในกลุ่มสมาชิก CPTPP ย้ายฐานการผลิตออกไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอื่น เพราะไม่ได้รับสิทธิจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งคาดการณ์ว่าการที่ประเทศไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศลดลงร้อยละ 0.6 ซึ่งถือว่าเป็นการถดถอยทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนในประเทศเช่นเดียวกัน จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับระดับนโยบายที่ต้องกำหนดทิศทางและมาตรการบรรเทาปัญหาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในกรณีที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP แต่สำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชน ไปจนถึงเกษตรกรและประชาชนที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38  ฉบับที่ 3,403  วันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว