ผวาถูกควํ่าเลื่อนชี้ชะตาพ.ร.บ.นํ้า

25 ก.ย. 2561 | 05:40 น.
กมธ.วิปฯ เซ็ง “สนช.” สั่งเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นํ้า เข้าวาระ 2-3 ออกไปโดยไม่มีกำหนด อ้างขอปรึกษา “ประยุทธ์” ก่อน ผวาถูกตีตกกลางสภา “หาญณรงค์” ชี้หากไม่ผ่าน “สทนช.”เคว้งแน่จากไม่มีกฎหมายรองรับ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ  กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. .... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเดิมนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดสมาชิก สนช.ประชุม ครั้งที่ 61/2561 ในวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่อาคารรัฐสภา มีวาระสำคัญด่วนคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ล่าสุดได้รับแจ้งว่าเลื่อนออกไปโดยยังไม่ได้กำหนดวันพิจารณาใหม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานทำหน้าที่เฉพาะด้านนโยบายการบริหารจัดการนํ้าของประเทศนั้น ได้โอนพนักงานข้าราชการกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนํ้าเข้ามาสังกัดล้วนแล้วแต่ใช้คำสั่งพิเศษ ดังนั้นหากยังไม่มีกฎหมายรองรับ หรือหากมีการปลดล็อก ม.44 ประมาณปลายปีนี้ การบริหารการปฏิรูปนํ้าของประเทศจะไม่เกิดขึ้น และจะกลับไปสู่จุดเดิมคือ แต่ละหน่วยงานก็ต่างบริหารกันไป นํ้า copy

ขณะเดียวกันมีกฎหมายลำดับรองที่ สทนช.จะต้องไปออกมี 27 ฉบับ  อาทิ พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มนํ้าและกฎกระทรวง อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการลุ่มนํ้าใน คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) และกรรมการลุ่มนํ้าผู้แทนองค์กรผู้ใช้นํ้า หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้นํ้า อัตราค่าใช้นํ้าสำหรับการใช้นํ้าประเภทที่ 2 และ 3 และเงื่อนไขการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้นํ้า เป็นต้น ทั้งนี้ สทนช.จะเป็นไปอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป

“เหตุที่เลื่อนการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากประธานสนช. อยากจะปรึกษาท่านนายกรัฐมนตรีก่อน  เพื่อให้รอบคอบ เพราะร่าง พ.ร.บ.มีความสุ่มเสี่ยงที่จะผ่านหรือถูกควํ่ากลางสภาในคราวเดียวกัน ทำให้มีความกังวล”

สอดคล้องกับ นายสุรจิต  ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้าพ.ศ..... กล่าวว่า หากมีการพิจารณา ตามขั้นตอนเมื่อเปิดประชุมในสภา ร่างกฎหมายนี้จะเข้าสู่วาระ 2 คือ การพิจารณาเรียงตามมาตรา จะมีการอภิปรายใหสมาชิกเห็นชอบ หรือปรับแก้ไข สามารถลุกขึ้นอภิปรายได้ทั้งหมด หลังจากนั้นจะเข้าสู่วาระที่ 3 ทันที ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาว่าร่างกฎหมายจะผ่านหรือถูกควํ่า

“หลายฝ่ายยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ ประเภทที่ 2 เพื่อการเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและกิจการอื่น ส่วนกลุ่มนํ้าประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้นํ้าปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มนํ้า หลังกฎหมายประกาศใช้แล้ว 120 วัน จะผ่อนปรนการเก็บค่านํ้า 2 ปี แล้วให้ไปรับฟังความคิดเห็นในแต่ละลุ่มนํ้าก่อน”

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3403 วันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว