ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%

22 ก.ย. 2561 | 01:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ประชุมเฟดรอบ 25-26 ก.ย. 61 คาดเฟด ‘ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%’ ขณะที่ต้องจับตาผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าที่ยกระดับขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%จากระดับ 1.75-2.00% เป็น 2.00-2.25% ในวันที่ 25-26 กันยายน 2561 ตลอดจนประกาศเพิ่มระดับการลดขนาดงบดุลไปที่ระดับสูงสุดที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีพัฒนาการที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง ทิศทางของเงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้ง การลดขนาดงบดุลในระดับที่เร่งขึ้น คงเป็นปัจจัยท้าทายต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่ ที่อาจจะเผชิญกับความผันผวนของกระแสเงินทุนมากขึ้น

• เฟดน่าจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% รวมทั้งประกาศเพิ่มระดับการลดขนาดงบดุลไปที่ระดับสูงสุดที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ/เดือนในการประชุมนโยบายการเงินรอบที่หกของปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

o การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 4.2% QoQ. SAAR ในไตรมาส 2/61 ซึ้งเป็นระดับการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 4 ปีและเป็นการเติบโตที่สูงกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก นอกจากนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้ภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3/61 ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต และตลาดแรงงานจะพบว่ามุมมองของการขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงสดใส สะท้อนจากดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนสิงหาคม 2561 ของสหรัฐฯ ที่ระดับ 61.3 อันเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนสิงหาคม 2561 ยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนตำแหน่ง โดยท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตสูงกว่าระดับศักยภาพ กอปรกับ โมเมนตัมการฟื้นตัวที่ยังคงแข็งแกร่งน่าจะส่งผลให้เฟดดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

o พัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด ขณะที่การเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจจะกดดันแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป ทั้งนี้ ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) อันเป็นอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดเดือนกรกฎาคม 2561 เคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของเฟด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าวขยายตัว 2.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ปรับเพิ่มขึ้น 2.0% ขณะที่มองไปข้างหน้า การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอาจจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อมีโอกาสทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รอบนี้จะกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภคที่การส่งผ่านผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้เร็วกว่าการเก็บภาษีสินค้านำเข้าครั้งก่อนที่มุ่งเน้นไปที่สินค้าขั้นกลาง ขณะที่การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบนี้มีน้ำหนักเกือบ 1 ใน 4 ของตะกร้าราคาสินค้าในสหรัฐฯ อันอาจจะเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ให้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ปรับเพิ่มระดับการเก็บภาษีดังกล่าวจาก 10% เป็น 25% ที่อาจจะมีผลในช่วงต้นปี 2562

e-book-1-503x62-7 • ประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่ยกระดับรุนแรงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ไม่น่าจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการประเมินภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟดในปีนี้ โดยมองว่ายังมีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ สถานการณ์ข้อพาพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงปานปลายออกไป โดยล่าสุดสหรัฐ ประกาศที่จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยมีอัตราภาษีที่ 10% โดยมีผลในวันที่ 24 กันยายน 2561 อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้คงน่าจะจำกัด เนื่องจากการเก็บภาษีในครั้งนี้ได้มีการยกเว้นสินค้าที่กระทบกับผู้บริโภคสหรัฐฯ ออกบางส่วน ขณะที่โอกาสในการเจรจาประนีประนอมเพื่อลดทอนผลกระทบระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีอยู่ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เฟดน่าจะยังคงมุมมองที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปีนี้ มองไปข้างหน้า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอาจจะมีผลต่อเชื่อมโยงไปที่ระดับความเข้มข้นของสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยหากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ยังคงแย่ลง อาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติม อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก รวมทั้ง กลับมาเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด

• สำหรับผลกระทบต่อไทย คงต้องยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจต่างประเทศอ่อนแอ อาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพื่อลดผลกระทบของการไหลออกของเงินทุน อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเทศไทยแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำเทียบกับกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจต่างประเทศแข็งแกร่ง โดยมีระดับทุนสำรองในระดับสูง และมีการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศไม่มาก ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตา คงหนีไม่พ้นความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนตาม

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

090861-1927-9-335x503-8-335x503