โคเวิร์กกิ้ง สเปซ โตก้าวกระโดด ธุรกิจข้ามชาติดันตลาด

22 ก.ย. 2561 | 04:14 น.
พูดถึง โคเวิร์กกิ้ง สเปซ พื้นที่ทำงานร่วมกันที่กำลังนิยมในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าคือพื้นที่เปิดโล่ง
ที่ใครๆ สามารถเข้าไปใช้ได้ เช่น ในร้านกาแฟ หรือตึกแถว แต่ที่น่าจับตาเห็นจะเป็นโคเวิร์กกิ้ง สเปซ จากต่างประเทศที่รุกเข้าทำตลาดในไทย รวม 4 แบรนด์ชั้นนำ จัสท์โค, เกรทรูม, วีเวิร์ค และสเปซเซส และยังจะมีรายใหม่ทยอยเข้ามาอีก

“โคเวิร์กกิ้ง สเปซแบรนด์ไทยที่เปิดกันตามห้องแถวหรือร้านกาแฟ มีทั้งรายกลางและรายย่อย ประมาณ 90-100 โลเกชันไม่มีผลกระทบต่อตลาดอาคารสำนักงาน ต่างจากรายที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีที่เปิดให้บริการแล้ว กำลังตกแต่ง และที่จะก่อสร้าง โคเวิร์กกิ้ง สเปซกลุ่มนี้ใช้พื้นที่รวมๆ กันเกือบ 4.5 หมื่นตารางเมตร ทั้งๆที่เข้ามาในตลาดภายใน 2 ปีนี้เอง จึงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองมาก” นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศ ไทย กล่าวตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์ถึงทิศทางธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง สเปซ พร้อมทั้งเปิดปัจจัยที่ผลักดันให้ธุรกิจนี้มีสัญญาณที่ดีกว่า

[caption id="attachment_321234" align="aligncenter" width="375"] นิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ นิธิพัฒน์ ทองพันธุ์[/caption]

พื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ในกรุงเทพฯ ที่มีเกือบ 4.5 หมื่นตารางเมตร ฟังดูเหมือนจะมาก แต่ถ้าเทียบกับตลาดอาคารสำนักงานในภาพรวมซึ่งมีประมาณ 8.7 ล้านตารางเมตร คิดแล้วแค่ไม่ถึง 1% แต่แนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง จากแผนการดำเนินงานของผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ทั้ง 4 รายใหญ่ๆที่มาทำตลาด รวมถึงรายอื่นๆที่กำลังเจรจาก็มีอีกจำนวนมาก ผมเชื่อว่าอัตราการเติบโตในปีหน้าอาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะบริษัทโคเวิร์กกิ้ง สเปซ จากต่างประเทศแต่ละรายที่เข้ามาได้ประกาศแผนเปิดสาขาจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะเน้นเปิดในอาคารสำนักงานเกรด เอ ใจกลางเมือง ใกล้รถไฟฟ้า อาทิ ราชประสงค์, สีลม,สาทร

ถ้าย้อนกลับไปดูความต้องการพื้นที่ในตลาดอาคารสำนักงาน ปี 2560 ที่ผ่านมา ตลอดจนครึ่งปีนี้ ผู้ให้บริการ
โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นความต้องการในตลาดอาคารสำนักงานให้ขยายตัวนอกเหนือจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ บริษัทด้านเทคโนโลยี และธนาคาร

กลุ่มลูกค้าของโคเวิร์กกิ้ง สเปซ มีทั้งกลุ่มสตาร์ตอัพ และบริษัทรายใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ที่ทำธุรกิจในประเทศไทยหรือกำลังจะเข้ามา และมีโครงการที่ต้องการใช้พื้นที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ธุรกิจด้านพลังงาน มีโครงการชั่วคราว 6 เดือนหรือ 1 ปี ดังนั้น การเช่าพื้นที่โคเวิร์ก กิ้ง สเปซ จะยืดหยุ่นกว่าเช่าพื้นที่สำนักงานปกติซึ่งมีเงื่อนไขทำสัญญา 3 ปี

SPACES Summerhill - Bangkok, Thailand

ที่สำคัญ ลดค่าใช้จ่าย เพราะถ้าเช่าอาคารสำนักงานปกติ จะมีค่าใช้จ่ายการตกแต่งสำนักงาน ซึ่งเป็นวงเงินค่อนข้างสูง แต่ถ้าใช้บริการโคเวิร์กกิ้ง ไม่ต้องจ่ายค่าตกแต่ง เพียงจ่ายค่าสมาชิกต่อเดือนแทน โดยผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ทำพื้นที่ตามความต้องการของผู้เช่า การจัดพื้นที่ทำงานแบบใหม่ ที่มีพื้นที่ส่วนกลาง หรือ collaboration มากขึ้น ตอบโจทย์สำหรับกลุ่มมิลเลนเนียล ฉะนั้น ในโคเวิร์กกิ้ง สเปซ จะเห็นวิธีการทำงานแบบใหม่ การตั้งออฟฟิศที่ให้ความรู้สึกว่า relax มีการประสานงานมากขึ้น

“เริ่มเห็นสัญญาณบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยมานาน เช่าออฟฟิศปกติ หันไปใช้โคเวิร์กกิ้ง สเปซ หลังจากหมดสัญญาเช่า ในตึกเดียวกัน หรือในอาคารที่มีทำเลที่ดีกว่า เร็วๆนี้มีบริษัทอเมริกันรายหนึ่ง ใช้พื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ แล้ว โดยใช้พื้นที่สำหรับพนักงานเป็น 100 คน แนวโน้มนี้ในประเทศกำลังเข้ามา แต่ในยุโรปหรืออเมริกา เป็นอย่างนี้หมดแล้ว” 1

นี่คือปัจจัยที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ชั้นนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันในกลุ่มเหล่านี้สูงมาก ถือเป็นแนวโน้มค่อนข้างดี แต่อุปสรรคสำหรับโคเวิร์กกิ้ง สเปซ รายใหม่ๆ จากต่างประเทศ ที่สนใจอยากจะเข้ามาทำตลาด ก็คือว่าอาคารสำนักงานเกรด เอ ในกรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่ให้เช่ามีจำกัด เพราะแลนด์ลอร์ดต้องการให้มีแบรนด์เดียวต่ออาคาร เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งลูกค้ากันเอง ทั้งนี้ ความต้องการใช้พื้นที่ของโคเวิร์กกิ้ง สเปซ อย่างน้อย 3,000 ตารางเมตรต่อ 1 อาคาร เพราะต้องทำพื้นที่ส่วนกลาง collaboration จึงต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่อยู่ชั้นเดียวกัน แต่ถ้าไม่ใหญ่พอก็อาจจะ 2-3 ชั้นก็ได้ แต่สำคัญต้องอยู่ในทำเลศักยภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี

เมื่อพูดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำนักงานที่ดีๆ ที่ประสบความสำเร็จ วันนี้โคเวิร์กกิ้ง สเปซ กลายเป็นสิ่งน่าจะมี หรือไม่มีก็ได้ (nice to have) แต่ในอนาคตอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องมี (must have) เพราะลูกค้าที่เช่าอยู่ในอาคารมีโอกาสที่จะขยายพื้นที่ กรณีพื้นที่ว่างภายในอาคารไม่มี ลูกค้าก็สามารถขยับขยายไปใช้พื้นที่ของโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ได้ กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดึงดูดผู้เช่าได้เหมือนกัน ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เจ้าของตึกเริ่มให้ความสำคัญกับโคเวิร์กกิ้ง ไม่ว่าจะทำเองหรือให้ผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้ง มาเช่าพื้นที่ดำเนินการ

ปัจจุบันตลาดใหญ่ของโคเวิร์กกิ้ง สเปซในภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่มีโคเวิร์กกิ้ง มากที่สุด ถือเป็นศูนย์กลางหรือฮับของภูมิภาค ส่วนไทยก็อาจจะจัดอยู่ในระดับซับฮับ เนื่องจากชัยภูมิของไทยเป็นประตูสู่ประเทศกลุ่ม CLMV นั่นเอง

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,403 วันที่ 23-26 กันยายน 2561