ชายแดนคึกสวนไฟใต้ ทิ้งปั๊มรุกอสังหา28ราย

24 ก.ย. 2561 | 09:49 น.
 

5 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคึกคักข่าวรุนแรงไม่มีผล หลังมูลค่าที่ดิน-ดีมานด์สูง ทหาร-แรงงานย้ายถิ่นหนุน ขณะคนพื้นที่ส่วนใหญ่ซื้อเงินสด พบเจ้าของปั๊มทิ้งธุรกิจ หันมาทำบ้าน-คอนโดฯ 28 ราย

นางสาวพรพรรณ วีระปรียากูร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ เซ็นจูรี่ 21 โพล เปิดเผยถึงผลการสำรวจศึกษาตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศในเบื้องต้น ว่าปัจจุบันคนในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก ไม่ได้แตกต่างจากคนในภูมิภาคอื่นๆ  โดยเฉพาะในโซน 5 จังหวัด หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล  ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามถิ่นเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก รวมถึงดีมานด์กำลังพลทหารที่เข้ามาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ด้วย  ขณะเดียวกันพบคนในพื้นที่เอง ยังคงมีความเชื่อมั่น และต้องการปักหลักอาศัยอยู่ในแหล่งเดิม  โดยที่ข่าวปัญหาความรุนแรงใดๆ ไม่ได้มีผลต่อตลาดอสังหา ริมทรัพย์  แต่ความสนใจในแง่มูลค่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นต่างหากที่ทำให้ตลาดมีความคึกคัก ยกตัวอย่าง เช่น ผังเมืองของจังหวัดยะลา ที่ได้รับการยกย่องจากเว็บไซต์สื่อชื่อดัง จัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ดีและสวยที่สุดเป็นลำดับ 23 ของโลก  ยิ่งส่งเสริมให้มูลค่าที่ดินเติบโตขึ้นสูงต่อเนื่อง พบผู้พัฒนาบางราย มีการทยอยซื้อที่ดินสะสม ถือครองลักษณะเป็นผืนใหญ่ เพื่อหวังมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น

[caption id="attachment_321227" align="aligncenter" width="503"] พรพรรณ วีระปรียากูร พรพรรณ วีระปรียากูร[/caption]

ส่งผลโดยรวมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เกิดการแข่งขันและเกิดบริษัทประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหม่ๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบส่วนใหญ่มักเป็นการพัฒนาโครงการแนวราบขนาดเล็ก ไม่เกิน 9 หน่วยต่อ 1 โครงการ ก่อนขายออกและทยอยสร้างใหม่ ไม่ใช้รูปแบบบ้านจัดสรรขนาดใหญ่เหมือนในทำเลอื่นๆ ส่งผลทำให้เกิดการซื้อ-ขาย บ้านในพื้นที่ดังกล่าว ในอัตราที่ค่อนข้างถี่และต่อเนื่อง

“ความน่าสนใจ คือเราสำรวจพบมีผู้ประกอบการที่ยอมทิ้งธุรกิจปั๊มนํ้ามัน ผันตัวมาทำอสังหาฯ มากถึง 28 บริษัทในช่วงไม่กี่ปี และยังมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่คอยให้การสนับสนุน ทั้งนี้ก็เพื่อตอบรับดีมานด์ด้านที่มีอยู่เยอะ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากคนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ทหาร ที่ไม่อยากอยู่บ้านพัก หรือบ้านเช่า  และดีมานด์อีกส่วน ยังมาจากกลุ่มคนถิ่นเดิมที่แยกออกมาสร้างครอบครัวใหม่ ประกอบกับครองชีพที่ไม่สูง แปลงที่ดินที่สวย บ้านราคาไม่แพง ยิ่งเพิ่มดีมานด์”

นางสาวพรพรรณ ยังระบุว่า ปัจจุบันใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีตลาดบ้านเช่าหรือหอพักในอัตราที่สูง แต่ที่น่าสังเกตคือพบเมื่อเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตต่อเนื่องกับสถาบันการศึกษา มักจะมีการเกิดขึ้นของโครงการคอนโดมิเนียมเป็นจำนวนไม่น้อย  และส่วนใหญ่เป็นลักษณะการซื้อด้วยเงินสดให้บุตรหลานโดยผู้ปกครองที่เป็นคนมุสลิม ขณะที่ศักยภาพของทำเลภาคใต้ ที่สามารถเชื่อมต่อกับมาเลเซีย อินโดนีเซียได้ ประกอบกับยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม สมบูรณ์มาก นักท่องเที่ยวยังเข้ามา จึงมีความน่าสนใจในการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องการเสนอให้ภาครัฐเข้าไปช่วยดูแล เรื่องการคำนวณตัวเลขภาษีให้เหมาะสมต่อผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน สถาบันการเงิน นอกจากจะเอื้อผู้ประกอบการแล้ว ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย ซึ่งคาดจะช่วยส่งเสริมให้คนมีบ้าน และผลักดันให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้นอีก

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,403 วันที่ 23-26 กันยายน 2561