ทิ้งทวนล้านล้าน! "เมกะโปรเจ็กต์"

21 ก.ย. 2561 | 12:40 น.
210961-1919

เปิดโผบิ๊กโครงการมูลค่าร่วมล้านล้านบาท! พาเหรดรอรัฐบาล คสช. ทำคลอดโค้งท้าย เผย มีทั้งไฮสปีดเทรน รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ยัน! อีอีซีทำคลอดทีโออาร์ ต.ค. นี้ ไม่หวั่นเปลี่ยนขั้วการเมือง

นับจากรัฐบาล "คสช." เข้ามาบริหารประเทศ มีการผลักดันเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานสารพัดโครงการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ยังมีโครงการต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ารถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสารพัดสีส่วนต่อขยาย ที่ต้องเชื่อมโยงโครงข่ายให้ครบลูป

ทั้งยังมีโครงการขยายสนามบินต่าง ๆ รองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยว การพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า มอเตอร์เวย์ โครงการอีอีซี ซึ่งถือเป็นพระเอกของรัฐบาลนี้ ก็ต้องเร่งทำคลอดทีโออาร์ เพื่อให้หานักลงทุนเข้ามาพัฒนา ทั้งในรูปแบบการลงทุนแบบ PPP net cost และบางส่วนรัฐบาลเป็นผู้ลงทุน สารพัดโครงการ ซึ่งรวมมูลค่ากว่าล้านล้านบาท เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องเร่งผลักดันก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อ


P1-LINE-3402

'อีอีซี' คลอดทีโออาร์ ต.ค. นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ทางรัฐบาลพยายามที่จะผลักดันให้โครงการเร่งด่วนที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้ทันกับรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ยังอยู่ในกรอบที่วางไว้ โดยเฉพาะการเร่งออกทีโออาร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานอีก 4 โครงการ ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำไปสู่การยื่นซองประมูล และคัดเลือกเอกชนที่จะร่วมทุนกับภาครัฐ หรือ ลงนามในสัญญาได้ในช่วงต้นปี 2562

"อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมา นโยบายการขับเคลื่อนอีอีซียังสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่อง เนื่องจากมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เป็นกฎหมายมารองรับในการขับเคลื่อนต่อไปได้ นักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ในอีอีซี ก็ไม่ได้กังวลต่อปัจจัยการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะเข้าใจสถานการณ์ดี"


appMAP-3193

ขณะที่ การพัฒนาพื้นที่อีอีซี นอกจากได้มีการออกทีโออาร์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าการลงทุน 2.24 แสนล้านบาทไปแล้ว ยังมีโครงการที่เหลือที่จะต้องเร่งออกทีโออาร์ให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคมนี้ อีก 4 โครงการ มูลค่าโครงการรวมราว 3.75 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการราว 5.54 หมื่นล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการราว 1.1 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าราว 2 แสนล้านบาท และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) มูลค่าราว 1.058 หมื่นล้านบาท

ด้าน นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เผยว่า จะมีการประชุมติดตามโครงการตามแผนปฏิบัติการ (แอกชันแพลน) อีกครั้งช่วงปลายเดือนนี้ เบื้องต้น มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง คือ เส้นทางสายสีแดงเข้ม, สายสีแดงอ่อน และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่า 7,469 ล้านบาท ที่ต้องเร่งดำเนินการ

 

[caption id="attachment_321278" align="aligncenter" width="503"] พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม[/caption]

รวมทั้งยังมีโครงการรถไฟทางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) มูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านบาท จะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นเสนอ ครม. ปลายปีนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) และสายสีม่วง (ใต้) ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม. ปลายปีนี้ ส่วนโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ช่วงคูคต-ลำลูกกา สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหลักสอง-พุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งจัดอยู่ในแผน M-Map 2 จะเร่งดำเนินการในปี 2562

เร่งสปีดความเร็วสูง
"ยังต้องลุ้นเสนอ ครม. อนุมัติประมูลโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ได้ทันปลายปีนี้หรือไม่ หลังจากที่คณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบรูปแบบการร่วมลงทุนแล้ว รวมถึงโครงการพัฒนาที่ดินแปลง A จำนวน 32 ไร่ สถานีกลางบางซื่อ ที่คาดว่า คณะกรรมการพีพีพีจะเห็นชอบในเดือนตุลาคมนี้" นายพีระพล กล่าว

ขณะที่ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการหลังผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมแล้ว แต่ทาง สคร. ได้ส่งให้ ร.ฟ.ท. สรุปกรอบวงเงินลงทุนใหม่ หลังปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างถอดแบบราคากลาง สัญญาก่อสร้างตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-ขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงิน 5,000 ล้านบาท คาดได้ข้อสรุปนำเสนอเข้า ครม. ในเร็ว ๆ นี้

 

[caption id="attachment_321279" align="aligncenter" width="503"] สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์[/caption]

รับเหมาตีปีกรับอานิสงส์
ทางด้านความเห็นจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับอานิสงส์จากโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่ทยอยนำออกมาประมูลตามกำหนด ซึ่งการแข่งขันยังคงสูงอยู่ แสดงว่าผู้รับเหมาไทยยังคงมีศักยภาพที่จะรองรับงานได้ บริษัทยังคงเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐและเอกชนทุกงานที่ทางบริษัทมีคุณสมบัติที่เข้าประมูลได้

"เรามีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐทุกงาน ที่เรามีศักยภาพพอ สำหรับการลงทุนจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรนั้น ได้เตรียมการลงทุน ทั้งปกติ เพื่อรับงานใหม่ ส่วนการลงทุนเพิ่มเป็นพิเศษคงต้องรอดูผลการประมูลโครงการใหญ่ ๆ ช่วงหลังจากนี้ ว่า จะได้งานเพิ่มเข้ามาอีก ขนาดไหนอีกที สำหรับแบ็กล็อก เรายังคงมั่นใจว่า ถึงสิ้นปีจะยังคงระดับไว้ที่เกินแสนล้านบาท"

นายพิเชฐ นิ่มพานิชย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT กล่าวว่า “ช่วงไตรมาส 4 การแข่งขันยังคงสูงมากอยู่เช่นเดิม ส่วนปีหน้าจะเห็นว่า รัฐบาลพยายามเร่งผลักดัน เร่งรัดการเริ่มต้นโครงการที่อยู่แผนพัฒนา แม้จะล่าช้ามาบ้าง แต่ในที่สุดเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่ล่าช้าไปอีก คาดว่าการประมูลงานและการก่อสร้างจะเริ่มได้ตั้งแต่ต้นปี 2562 จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะส่วนก่อสร้างในส่วนของบริษัทจะมีทั้งร่วมกับพันธมิตรในบางงานและประมูลงานโดยตรงตามคุณสมบัติที่มีอยู่


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,402 วันที่ 20-22 ก.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ฐานโซไซตี : เลือกตั้งไทยชัดเจน ความเชื่อมั่นกระฉูด รัฐเร่งเมกะโปรเจ็กต์
'เซ็นทรัลฯ' ทุ่ม 2 หมื่นล้านบาท ผุดเมกะโปรเจ็กต์ภูเก็ต!!


เพิ่มเพื่อน
23626556-10 (1)