ต้องกล้ารับความจริง! "อุตสาหกรรมไทย" ยังแค่ ... "2.0"

21 ก.ย. 2561 | 10:25 น.
... มีผลการสำรวจของสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อประเมินศักยภาพผู้ประกอบการภาคการผลิต การค้า และบริการ ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภาพสถานประกอบการ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จากผู้ประกอบการจำนวน 1,500 กิจการ ว่า มีการตื่นตัวกับการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 มากน้อยแค่ไหน ภายใต้มิติต่าง ๆ

ในภาพรวมก็พบว่า ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 2.0 มีสัดส่วนสูงถึง 61% อยู่ในระดับ 1.0 ราว 9% ส่วนอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 3.0 มีสัดส่วน 28% และในระดับ 4.0 มีเพียง 2% ส่วนภาคการค้าและบริการ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 1.0 สูงถึง 48% ในระดับ 2.0 มีสัดส่วน 45% และอยู่ในระดับ 3.0 เพียง 7%

นอกจากนี้ยังพบว่า การวางแผนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการมีการศึกษาและวางแผนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่ยังไม่ได้ใช้ มีสัดส่วน 44% นำนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มาดำเนินการแล้วบางส่วน 27% นำนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มาดำเนินการ พร้อมกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ของกิจการ 7% และไม่มีการนำนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มาใช้ในกิจการเลย สูงถึง 22%

นายขัติยา ไกรกาญจน์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. สะท้อนให้เห็นว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ผู้ประกอบการอยู่ในระดับ 1.0-2.0 สูงกว่า 70% จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของรัฐบาลในการยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ภายในปี 2563 จะต้องยกระดับธุรกิจไทยส่วนใหญ่ไปสู่ระดับ 3.0 ให้ได้ และในปี 2568 จะไปสู่ระดับ 4.0 และภายในปี 2578 ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับ 4.0 ทั้งประเทศอย่างชัดเจน


7C1DF copy

เมื่อผลการสำรวจนี้ออกมา เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็เต้นกันเป็นแถว โดยเฉพาะ กสอ. ในฐานะผู้ร่วมสำรวจ ก็ปฏิเสธไม่ได้ และยอมรับในผลการสำรวจดังกล่าว ว่า แต่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศักยภาพของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมของปี 2561 อยู่ในระดับ 2.0 ในเกือบทุกมิติ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจในช่วงปี 2559-2560 พบว่า มีการปรับตัวในทิศทางที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 1.0 หรือ ระดับขั้นพื้นฐาน ปรับตัวลดลงจาก 11% ในปี 2559 เป็น 9 %ในปี 2561

สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 2.0 หรือระดับทั่วไปนั้น ปรับตัวลดลงจาก 74% ในปี 2559 เป็น 61% ในปี 2561 สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 3.0 หรือ ระดับที่มีความเข้มแข็ง มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิม 15% ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 28% ในปี 2561 และสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในระดับ 4.0 หรือ ระดับที่มีความเข้มแข็งมาก สามารถก้าวสู่ระดับสากลได้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 2% ต่างจากปีก่อนหน้าที่ยัง ไม่มีภาคธุรกิจใดอยู่ในระดับนี้

นายขัติยา ชี้ให้เห็นว่า ผลสำรวจที่ออกมาเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังไม่ตอบรับอุตสาหกรรม 4.0 เท่าที่ควร แม้ว่าจะมีมาตรการ หรือ นโยบายต่าง ๆ ออกมา ในการขับเคลื่อนการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ รัฐบาลควรจะต้องตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการ ประกอบไปด้วยกระทรวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะทำให้ไปสู่จุดหมายตามที่ตั้งเป้าไว้ได้


img02

ดังนั้น ผลการสำรวจที่ออกมา หน่วยงาน หรือ กระทรวงฯ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะต้องกล้ารับความจริงกับการดำเนินงานที่ผ่านมา และพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ให้เป็นระบบต่อไป โดยหวังว่า การสำรวจในปีหน้า ระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยน่าจะดีกว่านี้


--------------
รายงานพิเศษ โดย ... รุ่งอรุณ


23626556-10