กกต. เปิดเอกสาร! ย้ำ 3 กฎเหล็กพรรคการเมือง ส่งสมาชิกชิง ส.ส.

21 ก.ย. 2561 | 10:23 น.
กกต. เตรียมเอกสารแจงพรรคการเมือง 28 ก.ย. นี้ ระบุคุณสมบัติการส่งสมัคร ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้าน มีสมาชิก 500 คน จัดประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับแล้ว ชี้! รับสมาชิก-ใช้โซเชียลติดต่อสมาชิกพรรคห้ามพ่วงหาเสียง

วันที่ 21 ก.ย. 2561 - นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เอกสารในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับรายละเอียดของเอกสารบางส่วนที่จะใช้ประกอบการชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองต่อผู้แทนพรรคการเมือง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 28 กันยายน 2561 นี้

โดยเป็นรายละเอียดการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและหลักกฎหมายพรรคการเมืองในประเด็นที่สำคัญ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ คือ พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 จะต้องมีคุณสมบัติ คือ

1.มีทุนประเดิมแล้ว 1 ล้านบาท 2.มีสมาชิกพรรค 500 คน ที่จ่ายค่าบำรุงพรรค ปี 2561 แล้ว และ 3.มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนด และให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีผลใช้บังคับด้วย

ส่วนหัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งเดิมเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการไพรมารีโหวต แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาที่ประกอบไปด้วย กรรมการบริหารพรรค 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคเลือก 7 คน รวม 11 คน ทำหน้าที่ในการคัดสรรผู้สมัคร หัวหน้าสาขา และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะทำหน้าที่เพียงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครเท่านั้น โดยตามคำสั่งที่ 13/2561 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องตั้งหัวหน้าสาขาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ในส่วนของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เอกสารระบุว่า จะแต่งตั้งได้เมื่อมีการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว แต่คำสั่ง คสช. ไม่ได้ระบุเงื่อนเวลา การจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจังหวัดว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเห็นของแต่ละพรรคการเมือง

ทั้งนี้ ในเอกสารยังระบุข้อสังเกตด้วยว่า กรณีพบว่ากระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นไปตามหลักเกณท์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด ไม่มีบทบังคับเอาผิดและโทษโดยตรง แต่อาจจะเป็นความผิดตามมาตรา 22 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล ไม่ให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญกฎหมาย ข้อบังคับ รวมถึงระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของ กกต.

โดยเมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล ไม่ให้สมาชิกผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคกระทำการในลักษณะอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และถ้าความปรากฏต่อกรรมการบริหารพรรค หรือ กรรมการบริหารพรรค ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนว่าสมาชิกมีการกระทำที่เป็นฝ่าฝืน สามารถสั่งให้สมาชิกยุติการกระทำนั้น ถ้าพบว่า กรรมการบริหารพรรคไม่สั่งให้หยุดกระทำให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต. พิจารณา มีคำสั่งให้กรรมการบริหารพรรคดารเมืองนั้น พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามดำรงตำแหน่งใดในพรรค จนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

ส่วนการดำเนินกิจการทางการเมือง นอกจากที่มีการกำหนดไว้ 7 ข้อ ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เอกสารระบุว่า จะต้องขออนุญาตจาก คสช. ตามประกาศข้อ 4 และ 5 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/5260 ที่กำหนดว่าต้องมีการระบุประเภทกิจกรรม เวลา สถานที่ จำนวนผู้เข้าร่วม ผู้รับผิดชอบกิจกรรม โดยต้องยื่นคำขอผ่าน กกต. ไปยัง คสช. ขณะที่ การรับสมาชิกต้องเป็นตามข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง ตามมาตรา 15 (9) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และต้องไม่ขัดต่อประกาศ คสช. ที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 3 /2558

ส่วนการติดต่อสื่อสารระหว่างพรรคการเมืองและสมาชิกโดยใช้สื่ออิเลคทรอนิค ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 นั้น มีองค์ประกอบ คือ ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ หรือ การสื่อสารเกี่ยวข้องกับบุคคลในพรรค หรือ สมาชิกพรรค และต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง

e-book-1-503x62-7