ขานรับ! "คุมสินเชื่อบ้าน" ตลาดแข่งดุฉุดมาตรฐาน หวั่นเกิดหนี้เสียในระบบ

24 ก.ย. 2561 | 01:31 น.
หนุนแบงก์ชาติออกมาตรการคุมสินเชื่อบ้าน หลังตะลุมบอนสร้างฐานลูกค้าใหม่ ... 'กรุงศรี' เชื่อทุกแห่งพร้อมรับ ชี้! แนวโน้มยังแข่งขันสูง ด้าน 'กสิกร' เร่งทำตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ หลังยอดอนุมัติ 8 เดือน 2 พันล้านบาท ยังห่างเป้าทั้ง 1 หมื่นล้านบาท ฟาก 'ซีไอเอ็มบีไทย' ฟุ้ง! สินเชื่อใหม่เติบโตมากกว่า 30%

การแข่งขันทำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ส่งผลให้มาตรฐานลดลง เช่น การยืดอายุการกู้ยืมออกไป เพื่อให้อัตราผ่อนจ่ายค่างวดลดลง หรือ มูลค่าสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (Loan to Value หรือ LTV) ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ย. มองว่าเป็นการใช้แข่งขันด้านราคาและเป็นความเสี่ยงที่ฝ่ายกำกับต้องดูแลต่อไป

โดย กนง. ส่งสัญญาณว่า ส่วนหนึ่งสามารถใช้มาตรการกำกับตรวจสอบทั่วไป หรือ Micro Prudential หรือจะใช้ Macro Prudential ซึ่งเคยใช้กำกับดูแลมาแล้วในอดีต โดยเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Risk Rate) ขณะที่ สถานการณ์ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปัจจุบัน และแนวโน้มยังสะท้อนการแข่งขันต่อเนื่อง ด้วยการเสนอราคาและหลากหลายทางเลือก ทั้งในรูปแบบสินเชื่อบ้านหลังแรก สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สินเชื่อบ้านแลกเงิน หรือ สินเชื่ออเนกประสงค์

 

[caption id="attachment_321168" align="aligncenter" width="335"] Nathapol Luepromchai_01 ณัฐพล ลือพร้อมชัย[/caption]

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เชื่อว่าทุกธนาคารมีความพร้อม หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการ Macro Prudential เป็นเครื่องมือให้ทุกสถาบันการเงินใช้ปฏิบัติ เพราะยอมรับว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังแข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็น LTV เข้าใจว่าที่เป็นปัญหาบางราย LTV 120% ซึ่งมากกว่ามาตรฐาน จึงเห็นด้วยที่ ธปท. จะออกแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานเหมือนกันในระบบ เพราะนอกจากช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในอนาคต ยังสร้างมาตรฐานกับระบบการเงินในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยไม่ให้สินเชื่อขยายตัวอย่างเปราะบาง

ในส่วน 'กรุงศรีอยุธยา' นั้น ไม่ได้รุกทำตลาดมากในเวลานี้ แต่เป็นการให้สาขาช่วยวางแผนการเงินและแนะนำเวลาลูกค้าเข้ามาจ่ายค่างวด ซึ่งฐานลูกค้ารีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยเติบโตได้จากบริษัทในเครือ เช่น กรุงศรีออโต้ ที่ต่อยอดใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ ต่อยอดใช้บัตรเครดิตโฮมโปร เพื่อสินค้าตกแต่ง หรือ กรุงศรีคอนซูเมอร์ และช่วงที่เหลือของปียังคงแคมเปญสินเชื่อร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมยังคงมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดอนุมัติ 8 เดือน เติบโตดีกว่าเป้าทั้งปี ที่ตั้งไว้ 6.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปี พอร์ตสินเชื่อคงค้างรวม 2.4 แสนล้านบาท และเชื่อว่า 3-4 เดือนสุดท้าย จะมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะบางธนาคารต้องเร่งทำตลาดสินเชื่อให้เข้าเป้า แต่ในส่วนของกรุงศรีอยุธยา มีผลบวกจากเป้าตุนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ดังนั้น ช่วงที่เหลืออาจจะชะลอเพื่อรักษาเป้าทั้งปี


MP24-3403-A

นายชลัฐ ศิริพงศ์วุฒิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารจะเร่งทำตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ จากที่ผ่านมามียอดอนุมัติประมาณ 2,000 ล้านบาท จากเป้าตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะมีสาขาแต่ละพื้นที่เสนอกับลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่า ซึ่งใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินกับธนาคารอยู่แล้ว ซึ่งการทำตลาดรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านต้องการเพิ่มความสะดวกในที่เดียว เพื่อครอบคลุมผลิตภัณฑ์บริการให้มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายให้ลูกค้าใช้บริการกสิกรไทยเป็นธนาคารหลัก ส่วนอัตราดอกเบี้ยคิด MRR-1.5% เฉลี่ยอัตรา 5.5%

สำหรับภาพรวม 8 เดือน ธนาคารอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท จากเป้าลูกค้าใหม่ทั้งปี 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 6-8% จากสิ้นปีก่อน พอร์ตสินเชื่อคงค้างรวม 2.53 แสนล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายจะมีทั้งบุคคลทั่วไป เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งในรายผู้ประกอบการนั้น จะพิจารณาที่มาของรายได้ชัดเจนและระมัดระวังไม่ให้การชำระหนี้ตึงตัวจนเสี่ยง

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา 8 เดือน ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวม 1.3 หมื่นล้านบาท และยังมีรออนุมัติอีกส่วนหนึ่ง โดยทั้งปีตั้งเป้าไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท สินเชื่อใหม่น่าจะเติบโตมากกว่า 30% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่ประมาณ 7.8-8 หมื่นล้านบาท

"หลักการเรา โฟกัสเงินเดือน 3 หมื่นบาทขึ้นไป รณรงค์ให้ลูกค้าวางแผนก่อนกู้และให้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ เช่น ให้ลูกค้าเตรียมตัวเอง ทั้งเรื่องรายได้ ราคาต่อยูนิต วิธีการซื้อจะผ่อนดาวน์เท่าไร หรือ คงเหลือส่วนที่จะกู้แบงก์เท่าไร เพื่อให้เห็นว่า มีความสามารถผ่อนชำระได้จริง ที่สำคัญ รณรงค์ให้กู้สั้น ๆ 10-15 ปี แต่พฤติกรรมลูกค้าบางส่วนวางเงินดาวน์ 15% กู้อีก 85% บ้างทำสัญญากู้ยาว 30 ปี และระหว่างทางทยอยโปะปิดทุกปี เพื่อลดดอกเบี้ยจ่ายและระยะเวลากู้ให้สั้นลงได้ ซึ่งแบงก์จะมีแผนให้เลือกหลากหลาย"


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23-26 ก.ย. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หมดยุคดอกเบี้ยถูก เล็งขยับสินเชื่อบ้าน
บตท.จัดสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ 10 ปี ป้องลูกค้า Payment Shock


เพิ่มเพื่อน
23626556-10 (1)