รถบีอีวียังเร่งเครื่องไม่ติด สำนักงบฯเบรกจัดซื้อ-เมินลดภาษีสรรพสามิต

27 ก.ย. 2561 | 10:18 น.
“อุตตม” แจงงานขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ยังไร้ผู้ผลิต ขณะที่มาตรการกระตุ้นตลาด สำนักงบประมาณไม่ไฟเขียวให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อรถบีอีวีได้ รวมถึงยังไม่มีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตให้ ยันลุยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของประเทศ และทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หวังจะใช้พื้นที่อีอีซีเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้มีการเห็นชอบมาตรการส่งเสริมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ไปแล้วโดยมีผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 6 ราย ประกอบด้วยการผลิตรถยนต์ไฮบริด 3 ราย ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสันและผลิตรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด 3 ราย ได้แก่เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับบลิว และเอ็มจี ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์บีอีวี ที่ใช้แบตเตอรี่ 100% ยังไม่มีบริษัทรถยนต์รายใดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน

นายอุตตม  สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในการพัฒนาอุสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตหรือการส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือบีอีวีโดยในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทานนั้น ทางบีโอไอได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนออกมาแล้ว ขณะที่กรมสรรพสามิต ออกประกาศ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และกระทรวงการคลังได้ออกประกาศ การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร โดยให้ยกเว้นอากรนำเข้าของบีอีวี เพื่อนำเข้ามาทดลองตลาดเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี รวมถึงประกาศหลักเกณฑ์และพิธีการสำหรับการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรแล้ว TP10-3403-A

ขณะที่มาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศนั้น ในระยะแรกนี้ทางสำนักงบประมาณ(สงป.)ได้กำหนดบัญชีราคามาตรฐานคุรุภัณฑ์ให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (เอชอีวี) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (พีเอชอีวี) หรือ ปลั๊ก-อินไฮบริด ได้ แต่ยังไม่กำหนดบัญชีในส่วนของการจัดซื้อบีอีวีได้ รวมถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตให้กับรถบีอีวียังไม่มีการนำมาพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ได้ให้ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไปขยายสัญญาเช่ารถยนต์(ลีมูซีน) และเพิ่มสัดส่วนการใช้รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด และบีอีวีเพิ่มมากขึ้นแล้ว ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ระหว่างพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลง ที่จะนำร่องให้หน่วยงานภาครัฐนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้บริการขนส่งพนักงาน หรือบริการสาธารณะ แล้วขยายผลไปใช้ในพื้นที่อีอีซี รวมถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรถยนต์ 4 ล้อรับจ้าง(แท็กซี่) มาปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

นายอุตตม กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทาง สนพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการศึกษาแผนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมาย และถนนหลักที่เชื่อมต่อพื้นที่เป้าหมาย และทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กำลังเร่งผลักดันโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่คาดว่าสนามทดสอบพร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบ R117 จะแล้วเสร็จและทดสอบได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้น

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3403 ระหว่างวันที่ 23 - 26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว