รื้อแผนซื้อฝูงบินแสนล้าน "บินไทย" !! 'สมคิด' เดดไลน์ 3 เดือนจบ

24 ก.ย. 2561 | 10:55 น.
แผนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ เดิมจำนวน 23 ลำ มูลค่าแสนล้านบาท เป็น 1 ในแผนฟื้นฟู "การบินไทย" เพื่อให้กลับมามีกำไรและเติบโตอย่างยั่งยืน แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ทบทวนใหม่ โดยเห็นว่า 2 ผู้บริหารใหม่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดการบินไทย และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ควรมีส่วนรวมในการจัดทำแผน เพราะเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติโดยตรง

ภาพประกอบข่าว TG182 (1)

แต่โจทย์ที่ท้าทายของการบินไทยอยู่ที่แหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุน เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุนและหนี้สินต่อทุนอยู่ในอัตราที่สูง 8.03 เท่า จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง รัฐบาลจึงใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ในการผลักดันให้การบินไทยกลับมาผงาดติดอันดับ 1 ใน 5 สายการบินชั้นนำของโลก


ผนึกอีก 3 รัฐวิสาหกิจหนุน
โดยดึงพันธมิตรรัฐวิสาหกิจ อย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ท่าอากาศยานไทย เชิญซีอีโอของทั้ง 3 หน่วยงาน เข้ามาเสวนาและร่วมทำเวิร์ก ช็อป ในหัวข้อ "สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน" เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง หลังจากรัฐบาลใช้นโยบายเรื่องการหักลดหย่อนด้านภาษีไปแล้ว แต่อาศัยศักยภาพของหน่วยงานเหล่านี้ช่วยผลักดันอีกแรงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น สาขาของแบงก์กรุงไทยที่มีอยู่เป็นพันแห่งทั่วประเทศ การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มชำระเงินในการซื้อสินค้าบริการในชุมชน โดยเครื่องชำระเงินอัตโนมัติ (อีดีซี) 3 หมื่นตู้ การใช้บิ๊กดาต้าตอบโจทย์นักเดินทาง การปล่อยสินเชื่อในเมืองรอง


MP22-3403-B

การเสนอยกพื้นที่อาคารเทอร์มินัล 2 ให้การบินไทยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การต่อยอดข้อมูลดิจิตอลแพลตฟอร์ม ของ ทอท. ในการแจ้งออฟโหลดกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารการบินไทย การต่อยอดผู้โดยสารปีละ 185 ล้านคน ในเรื่องอาหารขึ้นเครื่องของการบินไทย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ส่วนการเดินทางไปเยือนการบินไทยของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในวันเดียวกัน รองนายกฯ ยํ้าว่า ณ วันนี้ สถานะการบินไทยยังไปได้และรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน แต่ยุทธศาสตร์การหารายได้เป็นสิ่งจำเป็น ต้องรู้ว่า การซื้อเครื่องบินจะซื้อเมื่อไร เครื่องบินแบบไหน และซื้ออย่างไร ต้องมีคำตอบก่อนซื้อ ต้องดูให้ละเอียดด้วยว่า ทิศทางธุรกิจการบินที่ขณะนี้มีการแข่งขันที่รุนแรง จะไปในทิศทางไหน การเพิ่มมาร์จินทำได้อย่างไร หรืออาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนลุคการบินไทย หากฝ่ายบริหารเห็นสมควร ก็พร้อมจะสนับสนุน เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องไปทำการบ้านมา


ภาพประกอบข่าว TG182 (3)

"ผมให้เวลาก่อนสิ้นปีภายใน 3 เดือน แผนต้องเสร็จ เรื่องหลักที่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน คือ 1.เส้นทางบิน 2.การปรับขบวนการทำงาน มาตรฐานการบริการต้องดี การมาครั้งนี้เพื่อสื่อความให้พนักงานได้รับรู้ถึงทิศทางและยุทธศาสตร์ ว่า จะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด ทุกคนต้องมีส่วนร่วมถึงจะสำเร็จ ตัวอย่างสายการบินเจแปนแอร์ไลน์สล้มละลาย แต่ใช้เวลาไม่ถึง 8 ปี กลับมาสร้างกำไรสูงมาก ทั้งที่ตอนแรกพนักงานเขาโทษคนอื่น มาถึงจุดหนึ่งถึงได้เห็นว่า ทั้งหมดเริ่มที่ตัวเราก่อน ต้องรักองค์กร การบินไทยก็เช่นกัน พนักงานทุกคนต้องสนับสนุนการบินไทย การขาดทุนไม่ใช่เรื่องใหญ่"


แผนใหม่ไม่ใช่แค่ 23 ลำ
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ด และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ดีดีการบินไทย ได้ร่วมกันแถลงว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยต้องปรับใหม่ แล้วเสร็จและผ่านความเห็นชอบก่อน 3 เดือนแน่นอน และการซื้อเครื่องบินอาจจะไม่ใช่แค่ 23 ลำ ใช้เงินแสนล้านบาทก็ได้ โดยต้องยกระดับการบินไทยให้เป็นสายการบินชั้นนำในปี 2565 ให้ได้ ไม่งั้นการบินไทยก็จะอยู่ในวังวนขึ้น ๆ ลง ๆ รายได้น้อย ขาดทุน เครื่องบินเก่า ค่าซ่อมแพง บริการแย่ แข่งขันไม่ได้ กำไรหาย

ดังนั้น ทั้งเรื่องของขนาดเครื่องบิน ระยะทางบิน ต้องสอดคล้องกับเน็ตเวิร์ก ที่ต้องวางแผนใหม่ทั้งหมด ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะซื้อกี่ลำ จึงยังไม่สามารถวางแผนการเงินได้ และการซื้อ ไม่ได้ซื้อพร้อมกัน ต้องวางแผนการเงินให้สอดคล้อง ย้อนหลังไป 5 ปี ปี 2013 การบินไทยมีเครื่องบิน 100 ลำ มีมาร์เก็ตแชร์ 37.1% ถัดมา 5 ปี ปี 2018 มีเครื่องบิน 103 ลำ แต่มาร์เก็ตแชร์หายไป 10% เหลือ 27.3% หรือว่าอีก 5 ปีข้างหน้า มาร์เก็ตแชร์เหลือ 10% เน็ตเวิร์กการต่อเชื่อมก็จะหายไปด้วย


……………………………………………………………….


หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3403 ระหว่างวันที่ 23 - 26 กันยายน 2561

23626556-10