ภัยร้ายใกล้ชีวิต กับปัญหาขยะพิษในสังคมไทย

22 ก.ย. 2561 | 04:45 น.
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาขยะพิษเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สื่อมวลชนให้ความสนใจนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหานี้ดูจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมาพิจารณาดังนี้

Ctrl_x_loeffelbein_009

ขยะพิษในปัจจุบันของไทยมาจากไหน ในการทำธุรกิจประเภทนี้มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องและมีผลได้ผลเสียอย่างไรบ้าง ขยะพิษส่งผลกระทบอะไรกับสังคมไทยบ้าง หัวใจที่สำคัญของปัญหานี้คืออะไร เรามีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และเพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ นอกจากนี้เราจะมีแนวทางอะไรบ้างที่ควรใช้ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

สถิติปริมาณกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมของไทยตั้งแต่ ปี 2555-2560 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถิติล่าสุดมีสูงถึงกว่า 16 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ พวกขยะที่มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำพวกโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศอีกด้วย กรมศุลกากรได้แถลงว่าเมื่อปี 2560 ไทยได้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 64,000 ตัน และในปี 2561 ได้มียอดนำเข้าสูงขึ้นอย่างมากคือกว่า 52,000 ตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

668091-ewaste-040418

ในประเด็นนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะเกิดจากการที่ประเทศจีนมีการประกาศไม่รับนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับนักลงทุนจีนได้ย้ายมาดำเนินธุรกิจการคัดแยกขยะประเภทนี้ในไทย จึงทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนนี้ได้มีการประเมินว่าการทำธุรกิจคัดแยกขยะดังกล่าว สามารถสร้างรายได้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ก็มีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลว่า การกำจัดขยะประเภทนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณ 4,000-150,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้แล้วแต่ความยากง่ายของประเภทขยะที่จะกำจัด

แม้ในปัจจุบันไทยจะมีโรงงานที่สามารถดำเนินการคัดแยกขยะพิษได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในทุกปี และจากการสำรวจพบว่ากว่า 75% ของโรงงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ในทางปฏิบัติยังพบว่าได้มีการว่าจ้างให้คนในชุมชนคัดแยกขยะพิษดังกล่าว โดยพบว่าคนในชุมชนดังกล่าวได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจากการคัดแยกขยะพิษ อันเนื่องมาจากไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ป้องกันสารพิษที่ประกอบไปด้วยสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารหนู กำมะถัน และสารเคมีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เป็นทั้งสารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ อีกมากมายตามมา

นอกจากปัญหาการแยกขยะพิษที่เกิดผลต่อปัญหาสุขภาพของบุคคลที่คัดแยกโดยไม่มีการควบคุมที่เหมาะสม ยังปรากฏว่ามีขยะพิษจำนวนมากถูกลักลอบนำออกมาทิ้ง ซึ่งแน่นอนว่าขยะพิษ เหล่านี้ย่อมทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบุคคลในชุมชนที่มีการลักลอบทิ้ง โดยในเรื่องปัญหาสุขภาพก็จะตกมาเป็นภาระแก่รัฐที่ต้องดูแลรักษาบุคคลที่เจ็บป่วย อันเนื่องมาจากขยะพิษ และหากมีการนำขยะนี้ไปลักลอบฝังดิน ขยะประเภทนี้ก็จะมีผลต่อการก่อให้เกิดพิษต่อดิน

8455870828_b66e1385b5_k-thumb.0

ซึ่งปัญหานี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคดีดังเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ที่สหรัฐอเมริกามีการปฏิเสธการนำเข้าสินค้ากล้วยจากประเทศปานามา เนื่องมาจากกล้วยที่นำเข้าดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารพิษอยู่ ซึ่งกรณีนี้ประเทศปานามาก็ได้มีการต่อสู้ว่า สารพิษที่มีในกล้วยนั้นเกิดจากการที่มีการเอาขยะอิเล็กทรอ นิกส์จากสหรัฐอเมริกา มาฝัง กลบในประเทศปานามา จึงส่งผลทำให้กล้วยมีสารพิษปนเปื้อน

หากไทยยังไม่มีการจัดการกับปัญหาเรื่องขยะประเภทดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ อีกไม่นานนอกจากขยะพิษจะก่อให้
เกิดปัญหาสุขภาพพื้นฐาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะลามไปสู่ปัญหาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีสารปนเปื้อนสารพิษได้อีกด้วย

เมื่อผู้เขียนได้พิจารณาถึงกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันของไทยจึงเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการกำจัดขยะพิษหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าไทยจะมีพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แต่ขยะพิษก็ไม่ได้อยู่ในบทนิยามศัพท์ของคำว่า “วัตถุอันตราย” ในมาตรา 4 แต่อย่างใด และถึงแม้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีความพยายามเสนอให้เครื่องใช้ ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุอันตรายตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่ความเห็นโดยส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าการควบคุมวัตถุอันตรายตามกฎหมายดังกล่าว กับประเด็นเรื่องวิธีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอยู่ค่อนข้างชัดเจน และไม่ควรกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

จากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมีประเด็นที่อยากเสนอให้พิจารณาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้

ประการแรก รัฐควรต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียในการปล่อยให้มีการนำเข้าขยะพิษเหล่านี้ ว่ารายได้ที่ได้จากธุรกิจประเภทนี้กับผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาในอนาคตตามที่ได้นำเสนอนั้น รัฐจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร โดยก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจประเภทนี้ให้น้อยที่สุด

ประเด็นที่ 2 ในเบื้องต้น ภาครัฐควรต้องเอาผิดอย่างจริงจังกับการออกใบอนุญาตนำเข้าขยะพิษซํ้าซ้อน หรือการดำเนินการที่ ผิดกฎหมายของโรงงานกำจัดขยะ

ประเด็นที่ 3 รัฐควรพิจารณาว่าจะจำกัดโควตานำเข้าขยะพิษหรือไม่อย่างไร ประเด็นที่ 4 รัฐควรยกเลิกคำสั่งที่สามารถตั้งโรงงานกำจัดขยะพิษในพื้นที่ใดก็ได้ แต่เปลี่ยนเป็นการจำกัดพื้นที่ที่สามารถใช้สร้างโรงงานกำจัดขยะพิษโดยคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพชุมชนเป็นสำคัญ

ประเด็นสุดท้าย รัฐควรหาวิธีเยียวยาผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดจากการคัดแยกขยะประเภทนี้ รวมไปถึงการสร้างมาตรการป้องกันไม่ให้ขยะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งในประเด็นนี้หากรัฐพิจารณาว่าจะไม่จำกัดโควตาการนำเข้าขยะพิษ ก็ควรเร่งจัดให้มีการออกกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมในการกำจัดขยะพิษหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ หากรัฐยังไม่มีมาตรการที่มีความชัดเจนในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว ปัญหานี้ก็ยังจะคงอยู่กับสังคมไทย และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

……………………………………………………………….
รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย 

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3403 ระหว่างวันที่ 23 - 26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว