คืนแวตในเมืองบูมค้าปลีกแนะสรรพากรเร่งแก้ปม-เพิ่มดิวตี้ฟรีสู้ศึกอาเซียน

28 ก.ย. 2561 | 09:20 น.
TRA มั่นใจค้าปลีกปี 62 สดใส ปัจจัยบวกอุ้มเพียบ ทั้งเลือกตั้ง กำลังซื้อฟื้นตัว ชี้ Downtown VAT Refund คือ Big Change ครั้งสำคัญวงการรีเทลไทย แนะสรรพากรเร่งถกแก้ปมต้นทุนดำเนินงาน หากต้องการสู้ศึกค้าปลีกอาเซียนต้องเร่งผลักดัน พร้อมเพิ่มผู้ประกอบการดิวตี้ที่หลากหลายกระตุ้นการแข่งขัน หวังสู่ Shopping Paradise โลก

แม้ทิศทางค้าปลีกไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโต 3.9% และคาดว่าทั้งปีจะปิดที่ไม่เกิน 4% แต่กลับถูกมองว่าถือเป็นตัวเลขที่ยังไม่น่าพอใจมากนัก หากเทียบกับการเติบโตของค้าปลีกในระดับอาเซียนที่พุ่งสูงไปแล้วกว่า 8-10% จากการขยับตัวมากขึ้นของหลายกลุ่มประเทศทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ที่จะชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากกลุ่มนักท่องเที่ยวไป ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ไทยต้องมีการปรับทัพค้าปลีกเพื่อรองรับการแข่งขันนี้มากขึ้น ขณะที่การเข้ามาของโครงการ Downtown VAT Refund ถูกมองว่าคือการเปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญ (Big Change) ที่จะผลักดันไทยสู่เป้าหมายอีกหนึ่งศูนย์กลางการช็อปปิ้งระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย (TRA) เปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางการเติบโตในธุรกิจค้าปลีกของเมืองไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท จึงมีแนวโน้มสดใสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการประกาศเลือกตั้งส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองในปีหน้าเป็นไปในทิศทางบวก กำลังซื้อในกลุ่มรากหญ้าที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะอาศัยจังหวะที่สัญญาณเป็นบวกนี้   จัดแคมเปญกระตุ้นต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่สดใสและเป็นการกระตุ้นยอดขาย

โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่ถือเป็นช่วงไฮซีซันอยู่แล้ว โดยมีทั้งเทศกาลปีใหม่ เทศกาลของขวัญที่หลายคนจะจับจ่ายใช้สอยจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดคึกคัก ขณะที่สภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงในช่วงปลายปีก็จะเหมาะกับการท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกคึกคักไปด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น ระบบโค้ด ระบบเก็บชำระเงิน ระบบการโฆษณาในร้านค้า การวางสินค้าใหม่ๆ ระบบออโตโมชันใหม่ๆ รวมถึงการสรรหาสินค้าที่หลากหลายเข้ามาใช้ถือว่าตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

MP36-3403-A ขณะที่ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3.9-4% อย่างไรก็ดี การเข้ามาของโครงการ Downtown VAT Refund ถือเป็น Big Change ที่จะผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกมีการเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยถือว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงติดอันดับโลก โดยปัจจุบันไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่เกิดการซื้อสินค้าเพียงนิดเดียว และถ้าหากสามารถทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามา 10 ล้านคนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 35 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีเพิ่มเป็น 50-70% ในอีก 5 ปีข้างหน้ามีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น เชื่อว่ารายได้ของประเทศจะดีขึ้นมหาศาล ซึ่งเราควรจะนำตรงนี้มาเป็นจุดแข็งและโอกาส เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว   ภาพรวมค้าปลีกไทยก็น่าจะเติบโตได้อย่างมากเฉลี่ย 1% ต่อปีเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ตํ่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน

“ไทยมีปัญหาเรื่อง VAT Refund ขณะที่เรื่อง Duty Free ที่ไม่หลากหลายมากพอ ทำให้การจับจ่ายใช้สอย (Spending) ของนักท่องเที่ยวเป็นตัวเลขที่ตํ่าจนเกินไป โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีการจับจ่ายอยู่ที่ 15-20% หรือกล่าวง่ายๆ คือนักท่องเที่ยวจ่ายเงิน 1 แสนบาทมาเที่ยวเมืองไทย แต่มีการซื้อสินค้าในเมืองไทยเพียงแค่ 1.5-2 หมื่นบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น ในบางทริปมีการจ่ายเงินค่าท่องเที่ยว 5 หมื่นบาท แต่ช็อปปิ้งสินค้ามูลค่ากว่า 1 แสนบาท นั่นคือตัวเลขการจับจ่ายที่ควรจะเป็นในเมืองไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวหมดไปกับค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร แต่ไม่มีการช็อปปิ้งเลย นั่นคือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข”

ด้านความคืบหน้าระหว่างโครงการ Downtown VAT Refund นั้นยังต้องรอข้อสรุปกับสรรพากร เนื่องจากมีการเปลี่ยนกฎกติกา โดยกำหนดให้ทดลองทำ Sandbox นำร่อง 6 จุด แต่ยังไม่สามารถระบุจุดที่ชัดเจนได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจากสรรพากรและเพิ่มจำนวนผู้เล่นมากขึ้นซึ่งจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยในส่วนของข้อดีคือจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไม่สามารถรวมตัวกันจัดทำได้

090861-1927-9-335x503 โดยส่วนตัวมองว่าแนวความคิดเรื่อง Downtown VAT Refund ควรจะให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในการจัดทำ เพราะยิ่งมีระบบน้อยยิ่งทำงานง่าย อีกทั้งยังส่งผลให้ต้นทุนในการจัดทำลดลงตามไปด้วย โดย 1 จุดบริการจะต้องมีการลงทุนทั้งในส่วนของการปรับปรุงซอฟต์แวร์ บุคลากร เป็นต้น ซึ่งใน 1 ผู้ประกอบการจะใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาทต่อ 1 จุดบริการซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันหากรวมกันจัดทำและมีการรวมในการทำระบบเดียวกันที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ จะทำให้การกระจายไปสู่ร้านค้าปลีกขนาดเล็กทำได้ง่ายขึ้น และสามารถลดต้นทุนได้

“วันนี้มีการรวมตัว 4 พันธมิตร ได้แก่ สยามพิวรรธน์ เดอะมอลล์ เซ็นทรัล และโรบินสัน ร่วมใจผลักดันให้มืออาชีพ อย่าง Global Blue เข้ามาเป็นผู้ให้บริการคืนภาษี รวมถึงบริหารจัดการในระบบ เพราะเป็นเธิร์ดปาร์ตี้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มพันธมิตรเข้ามาในสมาคมมากขึ้นก็ได้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถรวมตัวกันได้จำนวนมากและใช้ระบบไม่หลากหลายและลดต้นทุน เพราะถ้ายิ่งหลากหลายระเบียบขั้นตอนก็จะยุ่งยาก ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะสูงตามไปด้วย และจะไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น ทั้งนี้สมาคมยังยืนหยัดในแนวคิดเดิมที่มีการทำงานร่วมกันมากว่า 1 ปีในการรวมตัวกันจัดตั้ง แม้สรรพากรจะมีการเปลี่ยนแปลงกติกาในการแยกยื่นความจำนงเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งต้องมีการตกลงร่วมกันอีกครั้ง

นายวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้จุดอ่อนของไทย คือการมีดิวตี้ฟรีเพียงเจ้าเดียว แตกต่างจากเกาหลีที่มีดิวตี้ฟรีถึง 6 ราย ทำให้มีความได้เปรียบเรื่องการช็อปปิ้ง ทั้งนี้เป้าหมายระยะยาวของสมาคมคือต้องการให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยเข้าสู่ระบบ VAT Refund ทั้งหมด เพื่อเป็นการกระตุ้นเม็ดเงินและการเติบโตของจีดีพีประเทศ พร้อมผลักดันไทยไปสู่เป้าหมายคือการเป็น Shopping Paradise ของโลก ขณะที่การเข้ามาของโครงการ “Downtown VAT Refund for Tourist” หรือ “การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ถือว่าช่วยกระตุ้นภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกให้เติบโตได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

หน้า 36  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 | ฉบับ 3,403 ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว