‘ดีแทค’ เอาแน่คลื่น900

23 ก.ย. 2561 | 05:00 น.
     บอร์ด กสทช. ปรับร่างเกณฑ์เงื่อนไขประมูลคลื่น 900 ใหม่จากเดิม 3.5 หมื่นล้าน เริ่มต้นใหม่เป็น 3.7 หมื่นล้าน พร้อมให้ผู้ชนะประมูลจัดทำระบบรบกวนได้เองทั้งหมด ถ้ามีผู้เข้าประมูลหลายรายเปิดประมูลวันที่ 20 พ.ย. กรณียื่นรายเดียวประมูล 3 พ.ย.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยถึงมติที่ประชุมบอร์ดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า กสทช.ยังไม่พิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากกรณีที่ ดีแทค ยื่นฟ้อง กสทช.เนื่องจากว่าระยะเวลาอุทธรณ์สิ้นสุดในวันที่ 15 ต.ค.เนื่องจากว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงยังมีระยะเวลาอีกนาน

นอกจากนี้ กสทช.ได้อนุมัติออกใบอนุญาติให้กับ เอดับบลิวเอ็น หรือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 1740-1745 MHz คู่กับ 1835-1840 MHz ในราคาประมูลสูงสุด 12,511 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 จำนวน 6,255.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 437.885 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,693.385 ล้านบาท พร้อมด้วยหนังสือคํ้าประกันจากสถาบันการเงินเพื่อคํ้าประกันการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 6,693.385 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มามอบให้สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของการประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลแล้ว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

090861-1927-9-335x503-8-335x503 “เมื่อ AWN นำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 มาชำระ พร้อมทั้งได้ดำเนินการตามขั้นตอนก่อนรับใบอนุญาตฯ และการเปิดให้บริการบนคลื่นความถี่ ดังกล่าว ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้
ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/ 1835-1880 MHz แล้ว กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และเพิ่มการอนุญาตบริการในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ของบริษัท โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 24 ก.ย. 2561 ตามที่บริษัท ร้องขอ และระยะเวลาการอนุญาตดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2576 พร้อมกับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ได้มีการจัดการประมูลไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้คลื่นความย่านถี่นี้คืนกลับมาที่ กสทช. เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูลพร้อมกัน”


สำหรับการชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งออกเป็น 3 งวด งวดแรกชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% และงวดที่ 3 ชำระอีก 25%

นายฐากร ยังกล่าวต่ออีกว่า มติที่ประชุมบอร์ด กสทช.ได้ปรับร่างประกาศหลักเกณฑ์คลื่นความถี่ประมูลคลื่น 900 ใหม่ ผ่านร่างมติเรียบร้อยแล้วโดยปรับปรุงเงื่อนไข ราคาเริ่มต้นจากเดิม 35,000 ล้านบาท เริ่มต้นใหม่ 37,000 ล้านบาท คือเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท โดยให้ผู้ประมูลจัดทำระบบรบกวนได้เองทั้งหมด และ ประเด็นสุดท้ายเพิ่มเงื่อนไขการสร้างโครงข่ายได้ไม่เกิน 2 ปีและจะต้องแจ้งความประสงค์อย่างน้อย 7 วันก่อนใช้งาน

“หมายความว่าถ้า ดีแทค ไตรเน็ตชนะประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์สามารถใช้ได้ไปพลางๆ ก่อน 2 ปีแต่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่น 900 ด้วย”

สำหรับกรอบระะยะเวลาการประมูลคลื่น 900 เมกะ เฮิรตซ์ แบ่งเป็นค่าซอง 5 แสนบาท กรณีผู้เข้าประมูลปกติประ มูล วันที่ 20 ต.ค.2561 รับรองผล วันที่ 24 ต.ค.2561 ชำระเงินงวดแรกวันที่ 22 ม.ค. 2562

กรณีที่มีผู้ประมูลเพียงรายเดียวประมูลวันที่ 3 พ.ย. 2561 รบรองผลการประมูล วันที่ 7 พ.ย.2561 และชำระเงินประมูลงวดที่ 1 (กรณีรับประมูลแจ้งผลวันที่ 7 พ.ย.61) วันที่ 5 ก.พ. 2562

ด้านแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า เชื่อว่าการประมูลคลื่น 900 เมกะ เฮิรตซ์ ดีแทค จะเข้าร่วมประมูล อย่างแน่นอน เพราะ กสทช.ได้ปรับเกณฑ์เงื่อนไขทั้งหมด ที่สำคัญมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ดังนั้น ดีแทค ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการประมูลได้

หน้า 20 | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,403 ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว