ซีอีโอ "ทีโอที-แคท" ภาระควบรวมธุรกิจแสนล้าน

23 ก.ย. 2561 | 05:28 น.
เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการควบรวม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท หลังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. มีมติให้ควบรวมและต้องส่งรายละเอียดให้ครบถ้วนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

เมื่อรัฐบาลเปิดประเด็นควบรวมอีกครั้งหนึ่งน่าจะเกิดแรงต้านจากเหล่าพนักงานเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัท คือ ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับความคืบหน้าและแผนรับมือกับกระแสต้านที่จะเกิดขึ้น ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้


mp20-3403-a

ภารกิจหลังจากนี้
ดร.มนต์ชัย : ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่จะมาทำเรื่องการควบรวมกิจการ โดยมีท่านปลัดดีอีเป็นประธาน รวมถึงผู้แทนหน่วยงานราชการและเอกชนร่วมเป็นที่ปรึกษา และบอร์ดบริหารของแคทและทีโอที ซึ่งจะมาช่วยกำกับในเรื่องการจัดการกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากเมื่อเรื่องต้องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะมีคำถามที่ต้องตอบ เช่น เมื่อควบรวมกันแล้วแผนธุรกิจจะเป็นอย่างไร การจัดการเรื่องคน หรือ ทรัพย์สินที่ซํ้าซ้อน ทางคณะทำงานก็จะช่วยวางกรอบหรือแนวทางให้

คณะทำงานก็ได้มีการประชุมกัน และได้มอบหมายให้ทีโอทีและแคทดำเนินการ 4 เรื่อง คือ 1.เรื่องของแผนธุรกิจ 2.เรื่องโครงสร้างบุคลากรและผลประโยชน์ตอบแทนแก่บุคลากร 3.เรื่องการจัดการทรัพย์สิน และ 4.เรื่องคดีความข้อพิพาทต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยให้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ 18 กันยายน 2561 ขณะที่ ทางทีโอทีและแคทก็ได้มีการตั้งคณะทำงานภายในขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกันและตอบคำถามของคณะทำงานที่ตั้งขึ้น

พ.อ.สรรพชัย : เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ก็ได้มีการประชุมและนำเสนอแบ็กกราวด์ที่มาของแคทและทีโอที ว่า ในปัจจุบัน ธุรกิจทำอะไรอยู่บ้างและมีทิศทางเป็นอย่างไร เรื่องของการคงสิทธิ เรื่องคลื่นความถี่หลังจากควบรวมแล้ว ซึ่งทางคณะทำงานก็ได้สอบถามทางสำนักงาน กสทช. ว่า จะมีความเห็นอย่างไรในเรื่องข้อพิพาทระหว่างแคท
กับทีโอทีและเติ้ดปาร์ตี้ที่เกี่ยวข้อง และได้มีการตกลงกันว่า จะมีการประชุมกันทุก 2 สัปดาห์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ข้อสรุปก่อนกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อนำเข้า คนร. ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนตามไทม์ไลน์


โครงสร้างธุรกิจ
ดร.มนต์ชัย : สำหรับโครงสร้างการบริหารนั้น คาดว่าจะออกมาเป็น BU (Business Unit) หรือ หน่วยธุรกิจ เพราะงานบางอย่างไม่สามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเอง 100% การที่ต้องเป็น BU เพื่อให้วัดผลสำเร็จได้ว่า หลังจากเป็น BU แล้ว ในแต่ละธุรกิจหรือบริษัท ทำแล้วมีผลกำไรขาดทุนเป็นอย่างไร เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพ ส่วนสิ่งที่ออกมาในเชิงแข่งขันก็จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำ

พ.อ.สรรพชัย : ในเรื่องของโครงสร้างการบริหารยังไม่ได้คุยกันชัดเจน แต่ว่าเมื่อเทียบเคียงธุรกิจแล้วเนี่ย โครงสร้างธุรกิจของทีโอทีและแคทในปัจจุบัน โครงสร้างมันเหมือนกันในแง่ของ BU จะเห็นว่า เหมือนกันทั้งในเรื่องของบรอดแบนด์ โมบาย พร็อพเพอร์ตี หรือ เรื่องของโทรคมนาคม ดิจิตอลเซอร์วิส


MP20-3403-2

ด้านบุคลากร
ดร.มนต์ชัย : หลังจากโครงสร้างชัดเจนแล้ว ต้องดูว่างานที่ทำกับบุคลากรเหมาะสมกันหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องทำ
ออกมาในรูปแบบของเอาต์ซอร์ซ โดยให้โอกาสกับพนักงานหรือบุคลากรที่เคยทำงานกับทีโอที ทั้งนี้ พนักงานของทีโอทีและแคทคงจะโอนไปเป็นพนักงานของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติฯ แต่มีความเป็นไปได้ว่า คนจะมากกว่างาน ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มการทำงาน โดยมองว่า เรื่องการ Early คงเป็นมาตรการสุดท้าย

ด้าน พ.อ. สรรพชัย กล่าวว่า เรื่องของบุคลากรเป็นที่ยอมรับกันว่า สุดท้ายผู้บริหารคงต้องลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนพนักงานสิทธิสภาพการจ้างงานยังคงเหมือนเดิม แต่พนักงานก็ต้องทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการมองหางานใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับด้วย


รับมือกระแสต่อต้านอย่างไร
ดร.มนต์ชัย : สำหรับข้อเสนอเรื่องการรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน เป็นความเห็นหลัก ๆ ที่มาจากของตัวแทนพนักงานหรือสหภาพ ซึ่งทางเดินอาจจะไม่เหมือนกันระหว่างแคทกับทีโอที แต่ว่าจุดหมายปลายทางเหมือนกัน คือ การรวมองค์กรเข้าด้วยกัน ผมคิดว่าคงไม่ได้เป็นปัญหาหรือจะมีการต่อต้านอะไร เพราะว่าพวกเราก็เสนอกันขึ้นไปเอง

พ.อ.สรรพชัย : เท่าที่พูดคุยกัน ถ้าเราทำตัวให้เป็นกลาง แล้วมองภาพของประเทศ พนักงานมีความเข้าใจ เพราะว่าทั้ง 2 องค์กร มีความเสี่ยงในเรื่องของคลื่นที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2568 ปัจจุบัน รายได้ 50% มาจากคลื่นความถี่ ถ้าถึงเวลานั้นแล้ว เรายังไม่มีการปรับตัว มันน่าจะทำให้เป็นภาระในอนาคต


ปัญหาข้อพิพาทที่เคยเกิดขึ้น
ดร.มนต์ชัย : ถ้าเป็นข้อพิพาทระหว่างทีโอทีกับเอกชน หรือแคทกับเอกชน ผมคิดว่า ข้อพิพาทนั้นยังคงอยู่ แต่ถ้าเป็นข้อพิพาทระหว่างทีโอทีกับแคท เมื่อคนฟ้องกับคนถูกฟ้องเป็นคนเดียวกัน ข้อพิพาทเหล่านี้ก็คงหายไปโดยหลักของกฎหมาย

พ.อ.สรรพชัย : จริง ๆ แล้ว ตาม พ.ร.บ.มหาชน ในการควบรวมสิทธิหน้าที่ มันตามไปที่องค์กรใหม่อยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร คดีระหว่างกันไม่มีปัญหา เพราะสุดท้ายเราก็ถือหุ้นร่วมกัน แต่คดีที่ต่อเนื่องไปถึงเอกชน อันนี้เราต้องดูเรื่องข้อกฎหมายที่เราต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาช่วยวิเคราะห์

สัมภาษณ์ หน้า 20 | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,403 ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว