เดินหน้าแก้หนี้เกษตรกรสมาชิก กฟก.!! สมาคมธนาคารไทยให้เกษตรกรชำระหนี้เพียง 50%

20 ก.ย. 2561 | 09:49 น.
แก้หนี้สำเร็จ! สมาคมธนาคารไทยให้เกษตรกรชำระหนี้เพียง 50% ยกหนี้ที่เหลือให้กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแก้หนี้ กฟก. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เล็งมาตรการสำรองสำหรับเกษตรกรที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ใช้ระเบียบ กชก. เข้าช่วยเหลือ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับสมาคมธนาคารไทย ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า สมาคมธนาคารไทยได้เข้ามายื่นหนังสือยืนยันหลักเกณฑ์การรับชำระหนี้สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือในเบื้องต้นต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2.เป็นหนี้ NPL จากการประกอบอาชีพทางการเกษตร ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 และมีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และ 3.มีความสามารถในการชำระหนี้เงินต้นกับธนาคารเจ้าหนี้ 50% โดยธนาคารจะยกหนี้ส่วนที่เหลือให้และชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562 เพื่อให้เกษตรกรยังคงมีที่ดินทำกินต่อไป


รมว.กษ.-สมาคมธ.ไทย

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือจาก กฟก. ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงเดือน ก.ค. 2561 มีจำนวน 3,206 ราย จำนวนเงิน 1,207 ล้านบาท ขณะนี้เหลือเกษตรกรอีก 692 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการตรวจสอบเบื้องต้น ว่า เข้าหลักเกณฑ์ของ กฟก. มีเพียง 119 ราย มูลหนี้ 44 ล้านบาท ซึ่งจะนำรายชื่อดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป


Info Graphic-เกษตรกร (1)

ด้าน นายครรชิต สุขเสถียร ผู้อำนวยการ สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เกษตรกรที่มีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการสำรอง โดยจะเจรจากับเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ให้พิจารณาลดหย่อนหนี้เป็นรายบุคคล แล้วทำหนังสือแจ้งไปยังเกษตรกรลูกหนี้ หากมีความประสงค์ในการชำระหนี้ส่วนนี้ จะให้มาแจ้งความจำนงที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการขอกู้เงินจากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) โดยมีหลักเกณฑ์การชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และหากชำระตรงเวลา จะลดดอกเบี้ยลงทุกปีจนคงที่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4-5 เดือน"

e-book-1-503x62-7