โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2561 ‘พิเภกสวามิภักดิ์’

26 ก.ย. 2561 | 04:01 น.
พลังความสง่างามแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรม

พระราชปรารภในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ “นาฏกรรมโขน” ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่สืบทอดมายาวนาน และต่อมาได้เสื่อมถอยลงตามกาลเวลากลับมามีชีวิตชีวาสร้างสีสันและปลุกความคิดให้กับคนไทยอีกครั้ง

8589706760183

เพราะการฟื้นฟูโขนนั้น ไม่ใช่แค่การฟื้นฟูนาฏศิลป์ แต่เป็นการพลิกฟื้นฝีมือช่างหัตถศิลป์หลายแขนง หลายสาขาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านงานประณีตศิลป์ของไทยนับร้อยคนให้คืนกลับมา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล  จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ทำการศึกษาค้นคว้าการแสดงโขนตามแบบโบราณราชประเพณี พร้อมฟื้นฟูองค์ความรู้ในการสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้งดงามตามธรรมเนียมเดิม กอปรกับพระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพที่สร้างสมาชิกศิลปาชีพมากฝีมือไว้ในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ นับตั้งแต่การจัดแสดงโขนครั้งปฐมทัศน์ชุด “พรหมาศ” ในปี 2550 ปัจจุบันโขนได้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาฝีมือสมาชิกศิลปาชีพขึ้นสู่งานชั้นครู จากงานทอผ้าฝ้าย ก้าวสู่การทอผ้ายกในราชสำนักโบราณ จากงานปักลายดอกไม้และลายสัตว์สู่การปักดิ้นทองลงเครื่องโขน จากงานแกะสลักไม้สู่การทำกระดาษข่อยและการทำหัวโขน ก่อเกิดเป็นทายาทศิลปินผู้เข้ามาเติมเต็มศาสตร์และศิลป์ดั้งเดิมของไทยในทุกแขนงตลอดระยะเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษจนมาถึงปี 2561 ปีที่ 11 แห่งการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยได้สัมผัสถึงความสง่างามแห่งความสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงคัดเลือกตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้นมาจัดแสดง

8589706923886

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กล่าวถึงรายละเอียดในการจัดแสดงว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบสานและอนุรักษ์โขน ซึ่งถือเป็นสมบัติและเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์มาแล้ว  7 ตอนด้วยกัน  คือ ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี 2550 และ 2552, ชุด “นางลอย” ในปี 2553, ชุด “ศึกมัยราพณ์”  ในปี  2554,  ชุด “จองถนน” ในปี 2555, ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน
โมกขศักดิ์” ในปี 2556, ชุด  “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในปี 2557 และ ชุด“ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ในปี 2558  จนประสบความสำเร็จและได้รับกระแสตอบรับให้มีการเพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดง
ในทุกปี พระองค์ทรงปลื้มพระทัยที่เห็นทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ มาดูโขนกันทั้งครอบครัว เป็นสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น โดยปีนี้ในส่วนของการเลือกตอนจากแบบสอบถามและได้นำความกราบบังคมทูลว่า คนดูต้องการชมตอน พิเภกสวามิภักดิ์ เพราะคนดูสอบถามมามาก ทำไมพิเภกถึงไปย้ายอยู่กับพระราม จึงเป็นที่มาของการเลือกแสดง ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์”ขึ้น ทั้งยังเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดี และการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต นำเสนอในการแสดงครั้งนี้

โขนรามเกียรติ์ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” เริ่มต้นเรื่องราวจากสุบินนิมิตอันเป็นลางร้ายของทศกัณฐ์ จึงให้พิเภกน้องชายซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องโหราศาสตร์ทำนายสุบินนิมิตนั้น พิเภกผู้ถือความซื่อสัตย์สุจริต ได้ทำนายว่าเป็นลางร้ายจะเกิดสงคราม และฝ่ายยักษ์จะพ่ายแพ้ วิธีแก้ไขคือ ให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดามเหสีของพระรามที่พาตัวมาคืนกลับไป เป็นเหตุให้ทศกัณฐ์พิโรธขับไล่พิเภกออกจากกรุงลงกา ซึ่งการแสดงโขนในตอนเนรเทศนี้เองที่ผู้จัดทำบทได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 2 มาเป็นหลัก ทำให้การดำเนินเรื่องแตกต่างจากบทในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้พิเภกเหาะข้ามไปจากกรุงลงกา โดยบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ได้ให้มโหธร เชิญเสด็จพิเภกลงสำเภาออกไปจากกรุงลงกา เมื่อถึงร่องนํ้าฝั่งแผ่นดินที่พระรามพักพลอยู่ จึงใช้เรือสำปั้นโล้ไปปล่อยขึ้นฝั่ง ในการแสดงครั้งนี้ฉากเรือสำเภาจำลองขนาดใหญ่จึงนับเป็นฉากสำคัญที่งดงามที่สอดประสานกับการขับร้องที่แสดงความโศกสลด ความเที่ยงตรงในสัจจะสุจริต อันเป็นคุณธรรมของพิเภกได้เป็นอย่างดี

8589687875842

อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัยผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า “การทำบทการแสดงครั้งนี้จะเห็นว่าแตกต่างจากการแสดงที่ผ่านๆ มา เพราะได้ผสมผสานสร้างสรรค์มาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 6 โดยทางคณะกรรมการทุกท่านตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความประณีตทั้งการบรรจุเพลงขับร้อง มีผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินแห่งชาตินาฏศิลป์ ดนตรี ได้ร่วมฟื้นฟูศิลป-วัฒนธรรม ถ่ายทอดการแสดงโขนให้อยู่สืบไป โดยโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” แบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา ตอนที่ 3 เนรเทศ และ องค์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์ ตอนที่ 3 มณโฑทูลตัดศึก ตอนที่ 4 สนามรบ และ ตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท ที่ยังคงความวิจิตรงดงาม กระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวง พร้อมที่จะสร้างความสนุก ความประทับใจให้กับผู้ชมสมการรอคอยอย่างแน่นอน

สำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำหนดจัดแสดง ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา บัตรราคาตั้งแต่ 420- 1,820 บาท พิเศษสำหรับรอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 220 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์)  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 (858) วันที่ 23 - 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว