เยือนเรือนพระยาศรีธรรมาธิราช

26 ก.ย. 2561 | 04:04 น.
 

8594049625845

จุดเปลี่ยนผ่าน... การเดินทางของเวลา

เรือนพระยาศรีธรรมาธิราชอาคารก่ออิฐถือปูนสีเขียวอ่อนตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก หนึ่งในอาคารอนุรักษ์
ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ความงดงามที่แฝงความน่าเกรงขามตั้งตระหง่านตามแนวแกนตะวันออก - ตะวันตกใจกลางของโรงเรียนสีตบุตรบำรุง บนถนนจรัสเมือง ย่านเขตปทุมวัน  กรุงเทพฯ

“เรือนพระยาศรีธรรมาธิราช” สร้างโดยพระยาศรีธรรมาธิราช(เจิม บุณยรัตพันธุ์) ผู้ถือตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรก  หนึ่งในคนไทยที่มีโอกาสเรียนรู้ศิลปะ  สถาปัตยกรรม เทคนิคและวิธีการก่อสร้างแบบตะวันตกในยุคเปลี่ยนผ่านของสถาปัตยกรรมแบบยุคเก่าและยุคใหม่ในพระนครเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานออกแบบของ Mr. Mario Tamagno สถาปนิกในราชสำนักสยามผู้ออกแบบอาคารที่มีเอกลักษณ์ และความงามเฉพาะตัวอย่างพระที่นั่งอนันตสมาคม  วังปารุสกวัน ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล และอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น เมื่อผนวกกับนิสัยส่วนตัวของพระยาศรีธรรมาธิราชที่เป็นคนประณีต รักสวยรักงาม มีความคิดสร้างสรรค์ จนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงชมว่า “...พระยาศรีธรรมาธิราชเป็นผู้มีความคิดชอบทำอะไรแปลกๆ และความคิดของท่านนั้นไม่ปล่อยให้แปลกจนผิดนัก” ทำให้เรือนพระยาศรีธรรมาธิราชคือหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของการปะทะสังสรรค์ระหว่างยุค อาคารก่ออิฐถือปูนที่มีความมั่นคงแข็งแรง การใช้กระเบื้องลอนใยหินซึ่งถือเป็นวัสดุที่เป็นของประหลาดในสมัยนั้นในการมุงหลังคา เมื่อผสมผสานกับทุกรายละเอียดในแต่ละห้อง ฝ้าเพดาน บานหน้าต่าง ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังที่ปรากฏสู่สายตาของเราในวันนี้คือภาพสะท้อนของกาลเวลาจนเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่เชื่อมต่อเวลาระหว่างอดีตและปัจจุบันให้น่าค้นหามากยิ่งขึ้น

8594049609377

ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังและการเลือกสีห้องที่สอดรับกับอารมณ์  บรรยากาศ  และการใช้งานที่แตกต่างกัน ห้องอาหารมีภาพลวดลายผลไม้รายล้อมโดยรอบ ห้องนอนสีชมพูกลีบบัวสบายตา ห้องโถงใหญ่ชั้น 2 งดงามตระการตาด้วยภาพนกยูงคู่เหนือบริเวณประตูทุกบาน ติดกับระเบียงที่ถูกฉาบด้วยสีนํ้าเงินครามสีที่หายากและมีราคาแพงในสมัยนั้น  ราวลูกกรงบันไดที่ถูกแกะสลักอย่างบรรจงเป็นรูปกระรอกสวยงามแปลกตา เชิงชายและคํ้ายันรูปสัตว์ต่างๆ ทั้ง  จระเข้  เสือ  ชะนี  สะท้อนความเป็นคนรักธรรมชาติของพระยาศรีธรรมาธิราช อย่างเด่นชัด

และไม่ว่าจะเป็นความโชคดีหรือความบังเอิญที่อาคารสีเขียวแห่งนี้ ดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับสวนผลไม้หนาแน่นที่อยู่รายรอบ ทำให้เรือนพระยาศรีธรรมาธิราชรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินจากกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สิ่งที่ถือเป็นความโชคดีอย่างที่สุดคืออาคารแห่งนี้ได้รับการบูรณะ (restoration) เพื่อทำให้เรือนพระยาศรีธรรมาธิราชกลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างจริงจังจากความร่วมมือของมูลนิธิไทยจีนเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ทำให้อาคารที่มีอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยที่ถูกทิ้งร้าง หรืออาคารที่ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานจนผิดรูปผิดร่าง แต่เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราทุกคนซึมซับและย้อนรอยดูก้าวประวัติศาสตร์เชิงสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นเรื่องราวที่ผ่านการต่อยอดเป็นองค์ความรู้ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่มีที่สิ้นสุด

หน้า 28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 (858) วันที่ 23 - 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว