‘ศุภชัย’แนะรอบคอบร่วมทีพีพี ชี้อันตรายกระตุ้นบนภาระหนี้สูง

18 ก.พ. 2559 | 08:30 น.
"ศุภชัย" เตือนเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซึมลึก เหตุการค้าขายติดลบหนัก หลังทั่วโลกเจอภาวะชะลอตัว ภาคการผลิต-อุตสาหกรรมทรุด แนะอย่าใช้นโยบายกระตุ้นบนภาระหนี้สูง มั่นใจระบบการเงินไทยยังแกร่ง แต่ควรเฝ้าระวังเอ็นพีแอล/สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ พร้อมแนะไทยร่วมทีพีพีเสียเปรียบมหาอำนาจ-ควรศึกษาอย่างรอบคอบ

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวปาฐกถาพิเศษ "TMB Economic Forum ภายใต้หัวข้อ "ส่องเศรษฐกิจโลก เจาะธุรกิจไทย 2016" ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในภาวะเปราะบางและละเอียดอ่อน และขยายตัวไม่ดีนัก แม้ว่าหลายประเทศจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ต้องจับตามองในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ จะเห็นการค้าโลกติดลบค่อนข้างมาก แต่ยังไม่ถึงกับเกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจเหมือนอดีตที่ผ่านมา เช่น วิกฤติการเงินที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยภาวะตอนนี้เปรียบเสมือนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซึมลึก เหมือนการเป็นไข้อย่างหนึ่ง เพราะหากดูเศรษฐกิจโลกเวลานี้ไม่มีปัญหา แต่เป็นความซบเซาอุตสาหกรรมเหมือนที่เกิดขึ้นกับสหรัฐ โดยมีการเติบโตในภาคบริการแทน หรือในประเทศจีนที่เกิดการถดถอยเรื่องของภาคการผลิจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นในบางจุดบางพื้นที่ แต่เป็นจุดที่ต้องติดตามและจับตามองอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์ที่พูดได้น่าสนใจในเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องระมัดระวังขณะนี้ คนแรกคืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ราคาพลังงานต่ำตก ราคาโภคภัณฑ์ผันผวน ซึ่งการผันผวนที่เกิดชัดที่ตลาดหุ้น ตลาดโภคภัณฑ์ทั้งหลายเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ดังนั้นประเทศเกิดใหม่ ผลกระทบจะรุนแรงเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เคยเป็นประเทศที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ส่วนหนึ่ง แต่เวลานี้เศรษฐกิจทั่วโลกติดขัดทั้งหมด ดังนั้นการค้าจึงหดหาย จึงเป็นความเสี่ยงในตลาดการเงินที่ต้องระวัง

ส่วนอีกคนเป็น "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของอเมริกา" กล่าวว่า เศรษฐกิจที่มีดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก เป็นเศรษฐกิจที่จะใช้เงินไปลงทุนในประเทศที่เสี่ยงมาก ดังนั้นเวลามีดอกเบี้ยต่ำ โดยการอัดฉีดรัฐบาล เงินจะตกไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ และก็จะเกิดเงินเฟ้อในตลาดเหล่านี้ ดังนั้นความเสี่ยงเหล่านี้จะทำให้ความจริงที่ว่าราคาไม่สูง ขนาดนี้แล้วราคายังจะตก ซึ่งขณะนี้ เขาก็พยายามกดดันว่า ดอกเบี้ยต่ำทิ้งไว้นานไม่ได้ และหากเป็นเช่นนั้นอเมริกา ต้องขึ้นดอกเบี้ย อย่างน้อย 4 ครั้ง ครั้งละ 25 สตางค์ สิ่งที่ต้องติดตาม คือเศรษฐกิจชะลอมาจากนโยบายพวกนี้หรือไม่

สำหรับกรณีของสหรัฐฯ ไม่ต้องเป็นห่วงมาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปลายปี 2558 จากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ผลกระทบยังไม่แน่นอน ซึ่งต้องติดตามเศรษฐกิจระยะยาว ไม่ใช่ช่วงสั้นๆ ดังนั้นต้องดูแนวโน้มระยะยาวว่าการลงทุนมีหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างยั่งยืน

"เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตเพียง 2% ขณะที่การเติบโตอุตสาหกรรมไม่มีเลย ดังนั้นหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นภาวะจากมรสุมใหม่ จากการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯยาก ซึ่งอย่างมากคาดว่าสหรัฐ จะขึ้นดอกเบี้ยเพียงหนึ่งครั้ง ลดลงหนึ่งครั้ง เพื่อให้คนถอยจากตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดที่มีความเสี่ยง"

สำหรับในประเทศที่ค่อนข้างเปิดเสรี การค้าขายปกติจะต้องมีอัตราเจริญเติบโตด้านการส่งออกปกติมากกว่านี้ อย่างอดีต 15 ปีก่อนส่งออกเติบโต 15% ดังนั้นขณะนี้หากเติบโตตามธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือการเปิดตลาดใหม่ ดังนั้น การค้าไทยก็น่าจะเติบโตได้ราวปีละ 2-3% สอดคล้องไปตามการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแหล่งการเติบโตที่มั่นคง และปีนี้ทางการออกมาคาดการณ์ส่งออกเติบโตราว 5% ทำได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี

ขณะที่การขยายตัวด้านเศรษฐกิจโดยการสร้างอุปโภคบริโภคครัวเรือนภายในประเทศ แต่การสร้าง Consumer Demand บนภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ถือเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยที่สัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายต่อภาระหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่ม เป็นสิ่งที่ต้องระวังมาก หากรัฐบาลจะปั้มเงินในประเทศ จะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวไปในทิศทางที่ควรเป็น เพราะเชื่อว่าจะติดตรงที่คนมีหนี้สินมาก และจะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นใหม่คงเป็นไปได้ยาก เช่น ปั้มเงิน 1 รอบ ผลที่ได้อาจจะไม่ได้เป็น 2 เสมอไป จึงเป็นความไม่แน่นอนที่ต้องระวังมากขึ้นในการใช้นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ น่าจะเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคงไปกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วมากไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดอิ่มตัว ดังนั้น การผลักดันเศรษฐกิจไทย ต้องปรับด้านการศึกษา การปรับโครงสร้าง ภาคการผลิต ไอที ขนส่ง การวิจัย และการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ CLMV มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนร่วมกับมาเลเซียในภาคใต้ โดยเฉพาะในด้านไอที ส่วนอุตสาหกรรม ที่ยังสามารถเติบโตได้ภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบัน คือภาคที่เกี่ยวข้องกับ ยา ทางการแพทย์ ภาคบริการ ภาคธุรกิจอาหารที่ยังสามารถขยายตัวได้

สำหรับระบบการเงินไทย แม้ว่าปัจจุบันระบบการเงินไทย จะถือว่าแข็งแกร่ง แต่สิ่งที่ด้อยลงหรือความด้อยค่าของคุณภาพสินเชื่อที่ปีก่อนลดลง 30% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ให้เร่งตัวขึ้น จาก 3% ไปสู่ 6% ได้ ถึงแม้ว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการตั้งสำรองในระดับสูง แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทราบปัญหาเหล่านี้ดี แต่ต้องระมัดระวัง นโยบายการเงิน ไม่ควรผ่อนคลายมาก และธปท.ควรมีวินัย เข้มงวดในการตรวจสอบสถาบันการเงิน ในด้านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

"ความเสี่ยงของไทยมาจากภาคการเงิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เพราะในอาเซียน มีประเทศไทย และมาเลเซีย ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยสถาบันการเงินต้องควบคุมคุณภาพสินเชื่อด้วย ไม่ใช่เน้นแค่การขยายตัวด้านสินเชื่อเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน การลงทุนที่ผ่านมาในประเทศ ยังเน้นไปสู่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ภาคการลงทุนของประเทศติดลบ เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่ชะลอตัว"

นอกจากนี้ ดร.ศุภชัยยังได้แสดงความเป็นห่วง เรื่องความร่วมมือภาคแปซิฟิก หรือ ทีพีพี นั้น ข้อตกลงภายใต้กรอบ WTO ทั้งสิ้นมี 30 หัวข้อ ว่าโดยส่วนตัวได้ศึกษาแล้วพบว่ามีกฎระเบียบประมาณ 7-10 ข้อที่อยู่นอกกรอบ WTO เช่น เรื่องแรงงาน การแข่งขัน หรือทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่อยากให้ไทยเข้าร่วมทีพีพีหรือหากจะเข้าร่วมจะต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เพราะอาจทำให้ไทยเสียเปรียบจากข้อตกลงที่จะมีการหารือนอกกรอบของ WTO โดยเป็นการกำหนดกฎระเบียบการค้าจากมหาอำนาจ ซึ่งเวลานี้มี 4 ประเทศในอาเซียนได้เข้าร่วมไปแล้ว คงเหลืออีก 6 ประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559