บทเรียนจากนกแอร์

18 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการทำงานกับผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) สายการบินแห่งชาติที่มีผลประกอบการตกต่ำขาดทุนสุทธิร่วม 2 หมื่นล้านบาทจนต้องปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ต้องขายทรัพย์สิน ลดคน ต้องยกเลิกเส้นทางบินที่ไม่คุ้มค่า ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายที่เคยสุรุ่ยสุร่าย

ฝ่ายบริหารของการบินไทยรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า วันนี้การบินไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ปีนี้จะเริ่มมีกำไรและจะมีกำไรไปอีก 5-10 ปี โดยต้องทำงานเชิงรุก เพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นได้ นี่คือสถานะของบริษัท การบินไทยซึ่งถือหุ้นใหญ่ของสายการบินนกแอร์อยู่ 39.2%

วันเดียวกัน นายออมสินชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมผู้บริหาร 14 สายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ “ตกเครื่องวันวาเลนไทน์” เมื่อผู้โดยสารของสายการบินนกแอร์เกือบ 1,500 คน ถูกลอยแพที่สนามบินดอนเมืองและอีกหลายสนามบินทั่วประเทศ เพราะกัปตันเครื่องบินประท้วงไม่ยอมขึ้นบิน จนต้องยกเลิกเที่ยวบิน 9 เที่ยวบินในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559

แม้ต่อมาผู้โดยสารทุกคนได้รับการนำส่งถึงที่หมายปลายทางหมดแล้ว แม้เหตุการณ์จะกลับคืนสู่ปกติแล้ว แม้สายการบินนกแอร์จะมีบทลงโทษอย่างรวดเร็วด้วยการสั่งไล่ออก “ผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบิน” สั่งพักงาน 2 นักบิน และสั่งสอบสวนนักบินอีก 7 คนแล้ว แต่กรณีนกแอร์ที่ใคร ๆ ก็บอกว่า “เป็นเรื่องภายใน” ก็เป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามและเป็นปัญหาที่ไม่อาจวางใจว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เช่นเดียวกับที่นกแอร์ชอบดีเลย์หรือยกเลิกเที่ยวบินอยู่เสมอ

สายการบินนกแอร์ตอนเปิดใหม่ๆดูดี แต่ทำไปทำมาสายการบินอื่นกลับแซงหน้า โดยเฉพาะของต่างชาติอย่างแอร์เอเชีย ไลอ้อนแอร์ เพราะช่วงหลังๆผู้ใช้บริการนกแอร์จะทราบว่าเครื่องดีเลย์บ่อย ไม่เจอเที่ยวไปก็อาจเจอเที่ยวกลับ บางทีก็ยกเลิกเที่ยวบินเพราะผู้โดยสารน้อย ไม่นับรวมระบบเช็คอินล่ม ไม่นับรวมการขอใบเสร็จรับเงินที่ต้องรอ 15-20 วัน ขณะที่สายการบินอื่นจัดการให้ได้ทันทีที่สนามบินในเวลาไม่เกิน 15 นาที

ผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบิน LOW COST ของนกแอร์ยอมรับว่า เครื่องบินลำไม่ใหญ่ ที่นั่งอาจไม่สบาย ไม่มีอาหารมาเสิร์ฟแบบการบินไทย แต่ก็ไม่อาจยอมรับบริการแบบ LOW SERVICE ที่พอซื้อตั๋วแล้วต้องลุ้นทุกครั้งว่าจะดีเลย์หรือไม่ หรือจะยกเลิกเที่ยวบินแบบกะทันหัน แล้วบอกลูกค้าว่า “ท่านจะได้รับสิทธิขอรับเงินคืน และขอรับค่าชดเชยตามระเบียบของกรมการบินพลเรือน”

คนไทยอยากอุดหนุนสายการบินของคนไทย แต่ถ้าสายการบินของคนไทยไม่คิดปรับปรุงการบริการ ถ้ายังทำงานแบบขาดจิตวิญญาณ ผู้บริหารระดับสูงยังสนใจการออกงานบันเทิงและงานสังคมมากกว่าจะทุ่มเทใส่ใจกับการพัฒนาด้านบริการ คนไทยก็คงไม่อยากเสียเวลาที่สนามบิน ไม่อยากเสียความรู้สึกกับคำขอโทษครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วหันไปใช้บริการของสายการบินต่างชาติที่ตรงเวลาและสบายใจกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559