“อุตตม”เล็งหากองทุนฯใหม่ช่วยSMEผู้ประกอบการแห่กู้ 1.8 หมื่นล้านเกลี้ยง

19 ก.ย. 2561 | 11:44 น.
“อุตตม”พร้อมเดินหน้าอุตสาหกรรม 4.0 ตั้งเป้างบประมาณปี 62 การดำเนินงานต้องมีผลสัมฤทธิ์วัดประสิทธิภาพการทำงานได้ เล็งจัดหาเงินกองทุนฯช่วยเหลือเอสเอ็มอีใหม่อีกก้อน หลังกองทุนพัฒนาตามแนวประชารัฐ 1.8 หมื่นล้านบาทหมดลง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปขยายผลใน 5 ภารกิจหลักให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และสามารถวัดผลในเชิงปฏิบัติได้ ภายใต้แผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.0 ที่จะขยายผลศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอนาคต (ไอซีที) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง ที่จะมาคอยให้คำปรึกษา ให้บริการข้อมูล และพัฒนาธุรกิจ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถให้บริการผู้ประกอบการทั่วประเทศไปแล้ว 15,760 ราย เกิดผลลัพธ์ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นแล้ว 350 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 5 พันล้านบาท ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ 1.4 พันล้านบาท

ขณะที่การสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น ปัจจุบันมีเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ผ่านการดำเนินงานของธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอี แบงค์ คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะสามารถปิดวงเงินสินเชื่อนี้ได้ เนื่องจากขณะนี้เหลือเพียงราว 200 ล้านบาท ที่จะอนุมัติปล่อยสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อคนตัวเล็ก วงเงิน 8 พันล้านบาท ได้อนุมัติวงเงินไปแล้ว 4 พันล้านบาท คาดว่าสามารถปล่อยสิ้นเชื่อได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในงบประมาณปี 2562 จะมาพิจารณาจะหาแหล่งเงินมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติมอีก

aus

โดยที่ผ่านมาเอสเอ็มอี แบงก์ ได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีไปแล้ววงเงิน 1.16 แสนล้านบาท ให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 4.3 หมื่นราย ก่อให้เกิดการสร้างเงินทุนหมุนเวียน 5.8 แสนล้านบาท มีผลต่อการจ้างงาน 4.2 แสนคน เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2 .05 แสนล้านบาท นอกจากนี้ จะเร่งขยายหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือซีไอวีให้ครบ 160 แห่ง จากปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 80 หมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ 151 ราย เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น 410 ราย มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 8.6 แสนราย ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนา 200 ผลิตภัณฑ์

อีกทั้ง การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ได้มีการผลักดันในการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนออกมาแล้ว รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนออกมาแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะการเร่งให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาสู่ระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว 229 โรงงาน ในจำนวนนี้ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอคิดเป็นมูลค่าลงทุน 3.5 พันล้าน และอยู่ระหว่างขอคำปรึกษาที่จะนำโครงการไปยื่นขอบีโอไอคิดเป็นมูลค่าราว 123 ล้านบาท

ขณะที่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฐานการเกษตร เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั้น หลังจากที่ครม.ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมไปแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีมาตรการส่งเสริมในระยะที่ 2 ออกมาอีก เพื่อขยายผลลงไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนเป็นรายโครงการที่จะเกิดขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป แผนการส่งเสริมคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้เร็วๆ นี้

e-book-1-503x62-7