กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอาร์พี 1.5% ต่อปี

19 ก.ย. 2561 | 10:22 น.
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6/2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 19 ก.ย. 2561 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 2 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี

ในการตัดสินนโยบาย กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีทิศทางเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสด ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่า ภาวะการเงิน โดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยง ที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต

โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ส่วนกรรมการ 2 ท่าน เห็นว่า ความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดําเนินนโยบายการเงิน (policy space) สําหรับอนาคต

นอกจากนี้ ได้คงประมาณการณ์ขยายตัวทางเศรฐกิจทั้งปี 4.4% และในปี 2562 ที่ระดับ 4.2% โดยปรับประมาณการการบริโภคเอกชนและลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดิม เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อ จาก 1.2% เป็น 1.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดเป็น 0.8% จาก 0.9%

"เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันการค้า ครัวเรือนยังก่อหนี้โดยที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงที่ 77.6% แม้จะปรับลดลงมาก็ตาม ขณะที่ กลุ่มสหกรณ์ยังระดมเงินฝากจ่ายดอกเบี้ย
สูงกว่าสถาบันการเงินและตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยแข่งขันสูงส่งผลมาตรการปล่อยสินเชื่อลดลงโดยขยายอายุการกู้และขยาย LTV สูงขึ้น"


e-book-1-503x62-7