"4 สัญญาณดี" บ่งชี้ความเชื่อมั่นในพื้นที่ชายแดนใต้

19 ก.ย. 2561 | 08:42 น.
"กอบศักดิ์" เผย 4 สัญญาณดี บ่งชี้ความเชื่อมั่นในพื้นที่ชายแดนใต้ "จำนวนนักท่องเที่ยว-มูลค่าการค้าชายแดน-การลงทุน-ภาคอุตสาหกรรม" ขยายตัว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ประธานในพิธีเปิดงาน "เสน่ห์ใต้ ชายแดน สัมผัสด้วยใจ ไม่ไปไม่รู้" กล่าวว่า ปัญหาของชีวิตความเป็นอยู่และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ให้ความสนใจและคอยติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายให้ส่วนราชการทุกภาคส่วนไปร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชน การช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้ต่ำด้วยโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯโดยการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ช่วยให้เกิดผลดีในด้านการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนในพื้นที่

ประการแรก มีการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา มากถึง 1,534,193 คน และจำนวนการจับจ่ายใช้สอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยรวมแล้วมีรายได้จำนวนมากกว่า 6,433.46 ล้านบาท เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนมีความเชื่อมั่นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เป็นพื้นที่ที่น่าท่องเที่ยวสวยงามและรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในเดินทางไปท่องเที่ยวยังพื้นที่มากขึ้น

ประการต่อมา มูลค่าการค้าชายแดนและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น จำแนกเป็น จ.ยะลา ภาคการบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.72% ภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 12.51% ภาคการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 10.76% และมูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น 45.98%, จ.นราธิวาส ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.8% ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่ จ.ปัตตานี ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.0%

ประการสุดท้าย คือ ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไม่น้อยที่ดำเนินการแล้ว เช่น โรงงานปาล์มน้ำมัน โรงงานมะพร้าว โรงงานยางพารา โรงงานปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ยังมีแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในพื้นที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพารา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา และนราธิวาส พื้นที่เมืองต้นแบบ ทั้ง อ.เบตง จ.ยะลา , อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

รวมทั้งที่จะมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ณ พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และพื้นที่ศูนย์รวบรวมและกระจายผลผลิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เทพา จ.สงขลา พื้นที่ด่านการค้าชายแดนอำเภอตากใบ พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเดิม อย่าง อุตสาหกรรมบานา จ.ปัตตานี และอุตสาหกรรมฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ก็ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและรัฐบาลต้องการสร้างให้เป็นเขตเศรษฐกิจไร้รอยต่อและอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป โดยในส่วนนี้ ศอ.บต. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบฯ จะเข้าไปทำหน้าที่กลไกการประสานและเชื่อมโยงให้เกิดการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ มหกรรม "เสน่ห์ใต้ชายแดน สัมผัสด้วยใจ ไม่ไปไม่รู้" จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ทำมาค้าขายได้ ผลทางตรง คือ ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ได้ เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมทั้งระบบไปสู่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนอื่น ๆ ผลทางอ้อม คือ การใช้เสน่ห์ของสินค้าชายแดนภาคใต้ ที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ในการเชิญชวนคนทั้งในประเทศให้ไปสัมผัสด้วยตา รับรู้ด้วยใจ ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้สวยงามเพียงใด ทั้งผืนป่า ภูเขา ที่ราบ และชายทะเล คนในพื้นที่มีอัธยาศัยที่น่ารักและเป็นกันเอง ไม่ใช่อย่างที่เห็นเป็นข่าวเช่นที่สื่อนำเสนอเพียงด้านเดียว

 

[caption id="attachment_319836" align="aligncenter" width="503"] ศุภณัฐ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ[/caption]

ด้าน นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่งผลให้การทำมาค้าขายของประชาชนในพื้นที่เป็นไปได้อย่างยากลำบาก จนเกิดเป็นคำถามของประชาชนว่า "ผลิตแล้วจะไปขายให้ใคร" และเป็นที่มาของการมีตัวเลขสถิติรายได้ครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ต่ำสุดของประเทศไทยหลายปีติดต่อกัน โดย ศอ.บต. ได้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาตลอดมา โดยการนำผลผลิตในพื้นที่ไปจำหน่ายยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น ปี 2560-2561 ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้นำผู้ประกอบการไปจำหน่ายยังพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของดีชายแดนใต้กว่า 80 ล้านบาท

แต่ภายหลังที่รัฐบาลได้มีโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" นับตั้งแต่ 4 ต.ค. 2559 เป็นต้นมา ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ อัตราตัวเลขการค้าและการลงทุนในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น การจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรมีมากขึ้น และตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นมาก จากที่ต่ำสุดประมาณไม่เกิน 2 แสนราย แต่ปีที่ผ่านมาขยับตัวสูงขึ้นกว่า 1.5 ล้านคนเศษ

ในขณะที่ ภาคการค้าการขายของประชาชนก็มีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้นด้วยแนวทางการเปิดช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งการตลาดโดยตรงและการตลาดทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานมหกรรม "เสน่ห์ใต้ชายแดน สัมผัสด้วยใจ ไม่ไปไม่รู้" เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแนวทาง "สานพลังประชารัฐ" ของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมของ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่เปิดพื้นที่การจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ สิ่งสำคัญ คือ การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน นักท่องเที่ยว มีความเชื่อมั่น และเล็งเห็นถึงความพร้อม และศักยภาพด้านการค้า และสัมผัสมนต์เสน่ห์ของการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนใต้ ณ ใจกลางเมือง


11

บรรยากาศภายในงาน "เสน่ห์ใต้ชายแดน สัมผัสด้วยใจ ไม่ไปไม่รู้" ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์


12

บรรยากาศภายในงาน "เสน่ห์ใต้ชายแดน สัมผัสด้วยใจ ไม่ไปไม่รู้" ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์


15

ความน่าสนใจของงาน "เสน่ห์ใต้ ชายแดน" เผยให้เห็นหลายแง่มุมต่าง ๆ อันมีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์เฉพาะตัวของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ ผลงานที่หาชมยาก และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกว่า 50 ร้านค้า , อาหารเด่น จากวัตถุดิบคุณภาพ โดยถ่ายทอดให้เห็นในรูปแบบ "ฟู้ดแฟชั่น" ที่ผสมผสานเมนูสุดพิเศษ พร้อมวัฒนธรรมการตกแต่ง และการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ ทันสมัย สวยงาม , ละครเวที และแลนด์มาร์คการท่องเที่ยว ที่จะสื่อให้เห็นภาพความประทับใจของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีมนต์เสน่ห์ พร้อมทัศนียภาพที่งดงาม ชวนให้หลงใหลและน่าจดจำ


14

"เสน่ห์ใต้ ชายแดน" จึงไม่ได้เป็นเพียงงานแสดงสินค้าจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นงานสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ของ 5 จังหวัดชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไป ได้ทราบว่า "5 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเมืองที่มีศักยภาพพร้อมทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และมีมนต์เสน่ห์ชวนให้ลงไปสัมผัส"

ทั้งนี้ ผู้สนใจเที่ยวชมงาน "เสน่ห์ใต้ ชายแดน" ได้ตั้งแต่วันนี้ 18–20 ก.ย. นี้ ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์


13

16

e-book-1-503x62-7