นายกชาวนาคนใหม่ไฟติ้ง ชู ‘ตลาดนำการผลิต’ ทางรอด

20 ก.พ. 2559 | 09:30 น.
เมื่อนึกถึงภัยแล้ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึง "ชาวนา" เป็นอันดับต้นๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่มีน้ำทำนา ซึ่งในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งได้มาเร็วกว่าทุกปี ขณะที่ราคาข้าวเปลือกก็ตกต่ำเหลือไม่เกินตันละ 8 พันบาท แต่ปรากฏไม่มีภาพของชาวนามาปิดถนนประท้วง "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ "สุเทพ คงมาก" นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ถึงทิศทางใหม่ของชาวนาไทย ตลอดจนแนวทางการลดต้นทุน การยกระดับรายได้ ผ่านโมเดลนาแปลงใหญ่ รวมถึงข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ

 ร่วมกันคิด เชื่อมนโยบายรัฐ

"สุเทพ" กล่าวว่า ในเบื้องต้น มี 2 สมาคมชาวนา ได้แก่ สมาคมชาวนาข้าวไทยที่มีประสิทธิ์ บุญเฉยเป็นนายกสมาคม และสมาคมชาวนาและเกษตรกรได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร ซึ่งมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ทำให้เห็นกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว ที่จะครอบคลุมการปฏิรูปทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิต หรือจัดโซนนิ่ง การตลาด และการส่งออก ภาพวันนี้ที่ออกไป สังคมหรือในส่วนของชาวนาเอง อาจจะมองว่าสมาคมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องมองย้อนกลับว่า วันนี้รัฐบาลเป็นเครื่องมือให้กับเราเช่นเดียวกัน

"ผมเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 ด้วยการชูสโลแกน "ค้าข้าวที่เป็นธรรม การตลาดนำการผลิต" ทำให้ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการรับช่วงต่อจากคุณวิเชียร พวงลำเจียก อดีตนายกสมาคม คนก่อน ขณะที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำสุดในรอบหลายปี สมาชิกชาวนาจึงได้เห็นบทบาทของสมาคมมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นผมตีโจทย์เลยว่า ระดับประเทศใครคือคนนำตลาด คำตอบคือ ผู้ส่งออก เป็นคนขายเยอะที่สุด รองลงมาเป็นสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย"

ดังนั้นจึงได้เดินทางไปพบผู้บริหารของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย โดยตั้งคำถามว่า ทำไมข้าวสารแพง แต่ข้าวเปลือกทำไมราคาไม่ขึ้น ซึ่งทั้ง 2 สมาคม ก็ชี้แจงว่า ราคาข้าวถูกกำหนดโดยตลาดโลก และทำให้ทราบถึงห่วงโซ่ของการผลิตข้าวตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และที่สำคัญนโยบายวันนี้ ที่รัฐบาลตั้งเป้าผลิตข้าวเปลือกในปีนี้เพียง 25 ล้านตัน เพื่อต้องการยกระดับราคาตลาด ดังนั้นวันนี้จะต้องมาวางทั้งระบบใหม่เพื่อให้ชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคิดเพื่อลดต้นทุน และวางแผนการผลิตเชื่อมโยงกับนโยบาย

 ชูตลาดนำการผลิต

ที่ผ่านมาทางสมาคมพยายามที่จะเข้าร่วมสัมมนาในเวทีต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และได้มีการตั้งที่ปรึกษาในสมาคมซึ่งมีทั้งนักวิชาการ ผู้ส่งออก โรงสีใหญ่ และ ปราชญ์ชาวนา เพื่อพยายามเชื่อมโยงถึงสถานการณ์การผลิตข้าวของโลก วันนี้เป็นอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ ได้แต่ปลูกไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปขายใคร หรือขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูงมากหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน วันนี้การลดต้นทุนการผลิต คนที่จะลดได้ดีที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นตัวชาวนาเอง

"วันนี้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เรื่องนาแปลงใหญ่ เพราะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้จริงๆ จากก่อนหน้าที่โครงการนี้จะเกิด ผมได้มีการรวมกลุ่มกันผลิตข้าวที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลิตข้าวหอมปทุมธานี ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อต้องการสอนให้ชาวนาคิดเป็น รู้จักการตลาด ซึ่งก็เจอปัญหาโรงสีในภาคใต้ไม่รับซื้อ อ้างแปรรูปยากทำแป้งไม่ได้ จึงได้ติดต่อโรงสีใหญ่จังหวัดสุพรรณบุรีมารับซื้อโดยตรง แล้วกำหนดราคารับซื้อจากสมาชิกสูงกว่าราคาตลาดประมาณ 5-10% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เข้าร่วม"

 ดันแปลงใหญ่-ปั้นแบรนด์ข้าว

ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลมีโครงการนาแปลงใหญ่ ทางสมาคม ได้เลือกจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นแหล่งที่เหมาะสมจะปลูกข้าวหอมปทุมธานี และที่สำคัญมีกรรมการ เป็นผู้จัดการนาแปลงใหญ่ที่เข้มแข็ง ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วม 473 ราย รวมพื้นที่กว่า 1.8 หมื่นไร่ ร่วมกันพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่มอำนาจต่อรองได้มากขึ้นโดยซื้อปัจจัยการผลิตได้ถูกลง มีการประกันราคาตันละ 8 พันบาท

"จากโมเดลดังกล่าวได้นำมาสู่การสร้างแบรนด์ข้าวของสมาคมเองในแบรนด์ "ข้าวรวมพลัง" โดยจะขายในช่องทางทั่วไป ทั้งผ่านสหกรณ์ ร้านค้า รวมถึงขายโดยตรงให้กับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีร่วม 1 หมื่นคน จาก 54 จังหวัด จะเปิดตัวในวันประชุมประจำปีของสมาคมในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ซึ่งได้รับเกียรติจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นพรีเซนเตอร์ มั่นใจว่าการค้าขายครั้งนี้ชาวนาจะได้เรียนรู้ระบบตลาด และการผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น"

สำหรับความหมายของ "ข้าวรวมพลัง" คือ การเชื่อมโยงตั้งแต่โซนนิ่งชาวนา โรงสี และคู่ค้า ไปถึงผู้บริโภค เพราะฉะนั้นคำว่ารวมพลังก็คือรวมทั้งประเทศ เพื่อจะรับประทานข้าวของชาวนา และที่สำคัญการเปิดประชาคมอาเซียนทำให้ชาวนาต้องลุกขึ้นมาค้าขาย ไม่ใช่หวังพึ่งพิงแต่ผู้ส่งออกและผู้ค้าข้าวในประเทศเท่านั้น ซึ่งจะเป็นทางรอดและเป็นอนาคตชาวนาไทยในยุคปัจจุบัน

 เร่ง 3 มาตรการช่วยชาวนา

"สุเทพ" กล่าวอีกว่า จากที่ ณ เวลานี้ชาวนาประสบปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำทำนา รัฐบาลประกาศให้หยุดการทำนาปรัง ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคาต่ำ และสต๊อกข้าวสารในคลังของรัฐที่ยังมีมากกว่า 13 ล้านตัน กดดันราคาข้าวทั้งระบบ ทาง 4 สมาคมชาวนา ประกอบด้วย สมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทย ได้ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลผ่านทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยชาวนา ใน 3 เรื่องคือ

1.ให้รัฐขอความร่วมมือและกำกับให้ภาคเอกชน ที่ผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตและงานบริการทางการเกษตรลดราคาสินค้าและบริการลง เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืช ค่าเช่านา ค่ารถเกี่ยวข้าว ค่าน้ำมันเครื่องจักรกลเกษตร ค่าไฟฟ้าการเกษตร การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบและในระบบกับสถาบันการเงินต่างๆ เป็นต้น โดยให้รัฐมีหน่วยงานกำกับการลดราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน และประกาศประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ชาวนาได้รับทราบอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยลดต้นทุน

2.ให้รัฐจัดทำโครงการสินเชื่อชาวนาดอกเบี้ย 0% ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยแยกจากระบบสินเชื่อเดิมที่ชาวนามีอยู่กับ ธ.ก.ส. โดยให้กู้ได้แม้จะมีหนี้เก่าผูกพันอยู่แล้ว เพื่อช่วยพยุงค่าครองชีพของชาวนาในระหว่างเดือนมีนาคม 2559 - กุมภาพันธ์ 2560 วงเงินไม่เกินรายละ 1 แสนบาท ในงบประมาณไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ผ่อนส่งในระยะเวลา 2 ปีผ่านระบบการทำนาแปลงใหญ่ โดยชาวนาที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้จะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาแปลงใหญ่เท่านั้น คาดว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาและกลุ่มนาแปลงใหญ่ได้ประมาณ 5.7 แสนครัวเรือน เฉลี่ย 7 หมื่นบาทต่อครัวเรือน

และข้อที่ 3 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวทุกสายพันธุ์เชื่อมโยงตลาด และให้สมาคมชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินกิจการนาแปลงใหญ่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับนาแปลงใหญ่ของหน่วยงานรัฐ โดยจะไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่รัฐส่งเสริมอยู่แล้วนั้น

"ข้อเรียกร้องทั้งหมดทาง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบรับแล้ว แต่เราอยากเห็นความชัดเจนและความก้าวหน้าในทุกเรื่องที่กล่าวมาให้เห็นเป็นรูปธรรมใน 1 เดือน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559