ยัน“มังคุด”สลายตัวแล้วแต่มรสุมตต.เฉียงใต้ยังส่งผลฝนตกต่อเนื่อง

19 ก.ย. 2561 | 08:35 น.
ศูนย์เฉพาะกิจฯ ชี้พายุ“มังคุด” สลายแล้ว แต่ยังได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แนวโน้มฝนคาดการณ์ 20-24 ก.ย.ภาคเหนือตอนบนและอีสานฝนเริ่มลดลง แต่เหนือตอนล่าง กลาง ตะวันออก และใต้ ฝนยังตกต่อเนื่อง

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 19 ก.ย. 61 ว่า ขณะนี้พายุ “มังคุด” ได้สลายตัวแล้ว แต่ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำที่อ่าวเบงกอล ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่

โดยพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 38 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล สงขลา

map

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่า มีฝนตกหนักถึงหนักมากใน 18 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังน้ำไหลหลาก แบ่งเป็น ภาคเหนือ จ.น่าน 134 มม. ลำปาง 97 มม. เชียงราย 90 มม. พะเยา 88 มม. อุตรดิตถ์ 83 มม. แพร่ 80 มม. สุโขทัย 80 มม. เชียงใหม่ 73 มม. ตาก 49 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย 78 มม. หนองคาย 61 มม. ภาคกลาง จ.กำแพงเพชร 77 มม.ภาคตะวันออก จ.ตราด 110 มม. นครนายก 100 มม. จันทบุรี 70 มม. ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี 53 มม. ประจวบคีรีขันธ์ 46 มม.และภาคใต้ จ.ระนอง 90 มม.

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ฝนตั้งแต่วันพรุ่งนี้ถึง 24 ก.ย. 61 พบว่า ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีปริมาณฝนลดลง

ขณะเดียวกัน ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ-ลำน้ำที่สำคัญที่มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งและยังมีฝนตกต่อเนื่อง ได้แก่ แม่น้ำน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ จ.กาญจนบุรี และแม่น้ำในภาคใต้ คลองละงู บริเวณ ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล คลองนางน้อย ต.นาโยงใต้ อ.เมือง จ.ตรัง

090861-1927-9-335x503

สำหรับอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ จากเมื่อวานนี้ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 102% เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี คิดเป็น 97% เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี 94% เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี 93% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 86% ล่าสุดศูนย์เฉพาะกิจฯ เพิ่มการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา อีก 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.64 ล้าน ลบ.ม. ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออก 0.17 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯไม่มากนัก สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำจึงยังไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ทั้งนี้ จะมีการปรับแผนการระบายน้ำตามสถาพน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างฯ และต้องติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่ จึงส่งผลให้เขื่อนเฝ้าระวังพิเศษขณะนี้มีทั้งสิ้น 6 แห่ง

e-book-1-503x62-7