"รียูเนียน"ภาคประชาชน ชูธง"ล้างผูกขาด"

19 ก.ย. 2561 | 08:05 น.
 

ทีดีอาร์ไอชี้ทุนใหญ่ผนึกรัฐสร้างอำนาจผูกขาดก่อปัญหาเหลื่อมล้ำขยายวง ชูยุทธศาสตร์"โตถ้วนหน้า"สร้างประชาธิปไตยเศรษฐกิจ ครป.ปลุกภาคประชาชนรวมพลขจัดอำนาจเหนือตลาด

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ชี้ถึงสภาพการผูกขาดทางเศรษฐกิจในสังคมไทย ในการเสวนาเรื่อง นโยบายและมาตรการป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจและข้อเสนอที่เป็นธรรม จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าใหม่แก้ไขจุดอ่อนในกฎหมายเดิมหลายประการ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาผูกขาดในเศรษฐกิจไทยได้ เพราะพฤติกรรมของธุรกิจไทยเพื่อจะได้เปรียบคู่แข่งขันนั้น ไม่ได้มุ่งแข่งขันในเกมธุรกิจจนมีอำนาจเหนือตลาด ที่จะใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเข้าไปกำกับวางกติกาการแข่งขันได้ แต่ความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันเกิดจากธุรกิจใหญ่ใช้เส้นสายเข้าหาอำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่ม ซึ่งอยู่นอกข่ายบังคับของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

ตารางการเมืองออนไลน์
ตัวอย่างธุรกิจที่เติบโตจากการอิงอำนาจรัฐของสังคมเศรษฐกิจไทย มีทั้งธุรกิจที่ได้เปรียบคู่แข่งจากการที่ตนได้สัมปทานรัฐที่มาพร้อมอำนาจผูกขาด ทั้งสัมปทานเหล้า โทรคมนาคม เหมืองแร่ จากการจัดประมูลที่ไม่โปร่งใสเอื้อพวกพ้อง ซึ่งรวมถึงการยกเว้นประมูลแก่หน่วยงานรัฐ ที่เวลานี้สมาคมทหารผ่านศึกมีบทบาทมาก ใช้เส้นสายในการทำธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ อาศัยกฎระเบียบที่ยุ่งยากกีดกันคู่แข่ง ขณะที่รัฐวิสาหกิจก็ขยายการทำธุรกิจแข่งเอกชนกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการได้ข้อมูลวงในจากความใกล้ชิดได้โอกาสทางธุรกิจก่อนคู่แข่ง
ทุนอิงรัฐแสวงความมั่งคั่งได้มหาศาล ตัวอย่างค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากสัมปทาน 5 รายการ อาทิ ใบอนุญาต 3 จี ลดค่าสัมปทานพรีเพดของเอไอเอส แก้สัญญาเทเลอินโฟมีเดีย สัมปทานทีวีช่อง 3 และ 7 ยุคอนาล็อก มีมูลค่าถึง 189,89 ล้านบาท ค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ส่วนเกินจากอำนาจครอบงำตลาดหลักทรัพย์ ทั้งเรื่องใช้ข้อมูลวงใน ทุจริตซื้อขายหุ้น มูลค่า 71,200 ล้านบาท ความไม่โปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ประโยชน์ไปอีกปีละ 2,917 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ธุรกิจไทยแม้จะใหญ่โตแต่ไม่แข็งแรงหากต้องไปแข่งขันในเวทีโลก ไม่ดิ้นรนสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ลงทุนวิจัย เพราะมีรัฐเป็นเกราะกำบังให้อยู่แล้ว พร้อมกับที่ความเหลื่อมล้ำถ่างสูงขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งสร้างความตึงเครียดดึงสังคมให้ฉีกขาดกลายเป็นความขัดแย้งและประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน หากไม่มีประชาธิปไตยทางการเมือง ก็ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจได้
นายนิพนธ์เสนอว่า ต้องรณรงค์สร้างฉันทามติร่วมของสังคมไทย ที่ผ่านมารัฐมุ่งแก้ที่กลุ่มคนจนที่สุดของสังคมซึ่งก็ได้ผลพอสมควร แต่ต้องหันมาลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากคนรวยที่สุด 1 % ด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ยากที่สุด ต้องจำกัดบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐ สร้างความโปร่งใสการจัดซื้อจัดจ้าง ลดต้นทุนการทำธุรกิจหรือการเข้าสู่การเมือง เพื่อให้เป็นการเมืองแบบเปิด สร้างความรับผิดชอบของนักการเมือง ออกกฎหมายกำหนดขอบเขตการทำธุรกิจของรัฐ เลิกข้อยกเว้นหน่วยงานรัฐไม่ต้องประมูล ปฎิรูประบบภาษีให้เท่าเทียม เป็นกลาง ยุติธรรม อัตราไม่สูงแต่จัดเก็บได้ทั่วถึงเต็มที่ การยกเว้นภาษีเงินได้บีโอไอที่เอื้อธุรกิจใหญ่ต้องประเมินผลลัพธ์
ทั้งนี้ กลยุทธ์รณรงค์นโยบายเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้มุ่งสร้างความเติบโตอย่างทั่วถึง ไม่ควรใช้ยุทธศาสตร์กระจายรายได้นำยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาพบว่า ใช้การจัดเก็บภาษีรายได้อัตราเดียวกันกับทั้งคนรวย-คนจน เพื่อนำมาเป็นงบจัดสวัสดิการถ้วนหน้าทั่วถึงแบบพอเพียง กลับคืนให้ทุกคนในวงเงินเท่าๆ กัน ไม่ใช่ให้คนบางกลุ่มเสียสละแต่เป็นการชดเชยที่ทำให้ทุกคนดีขึ้น ก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ลงอย่างเห็นผล ควบคู่กับการศึกษาวิจัยแนวทางลดวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่เป็นอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) กล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์สร้างการผลิตซ้ำของโครงสร้างอำนาจผูกขาดทางการเมืองของไทย ให้อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ ที่หนุนกลุ่มพวกเดียวกันและกีดกันคนอื่น มีการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ผ่านการอบรมหลักสูตรว.ทั้งหลายควรยกเลิกให้หมด
การผูกขาดทางเศรษฐกิจไทยสร้างความเหลื่อมล้ำที่วันนี้มาถึงขีดสุดแล้ว หากปล่อยให้เลยไปกว่านี้จะเกิดเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงยิ่งขึ้น ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผู้นำใหม่ในช่วงแรก ๆ ก็จะชูเรื่องปฎิรูป แต่อยู่ไปมีแต่ทำซ้ำแบบเดิมหรือแย่ยิ่งกว่า เมื่อกลุ่มทุนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐมากยิ่งขึ้น เรียกว่ามีประชาธิปไตยมากเกินไปสำหรับทุน แต่น้อยเกินไปสำหรับชาวบ้าน กลายเป็นวงจรวิบัติ
เงื่อนไขที่จะหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้คือ นักการเมืองต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ขจัดการผูกขาด สังคมยึดมั่นหลักนิติธรรม ปลุกให้เกิดเป็นกระแสค่านิยมหลัก เกิดความตระหนักถึงความเสมอภาคเป็นจุดเริ่มต้นของการขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ
ด้านสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ชี้ว่า การผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางความยุติธรรมด้วย อำนาจเหนือตลาดมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากวัดที่ความแตกต่างของสินทรัพย์หรือรายได้แล้ว ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบันข้อมูลมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปต้องดูเรื่องของความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเข้าถึงหรือครอบครองข้อมูลด้วย ดังเช่นกรณีข้อมูลของผู้ใช้บริการเฟซบุคที่ถูกสอบอยู่ว่าถูกนำไปใช้และมีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่
ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องร่วมกันขจัดอำนาจเหนือตลาดรูปแบบต่าง ๆ กลไกหลายอย่างต้องทบทวน เช่นเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ที่มีแต่ตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าถึงภาครัฐ ยิ่งตอกย้ำการผูดขากยังควรมีต่อหรือไม่ สร้างกลไกใหม่ ๆ ให้ระบบเปิดยิ่งขึ้นเป็น Open Government Open Data
ในช่วงสิบกว่าปีของความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมของไทยแตกขั้ว อำนาจต่อรองลดลงไปมาก ทำอย่างไรจะให้ภาคประชาสังคมกลับมาตื่นตัวร่วมมือกันอีกครั้ง ไม่ใช่ให้เปลี่ยนจุดยืน แต่มีบางเรื่องที่เป็นประเด็นร่วม เช่น การขจัดอำนาจเหนือตลาดหรือการผูกขาด ที่น่าจะเป็นประเด็นร่วมของคนไทยทั้งหมด ที่สามารถร่วมมือกันได้
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) กล่าวว่า เวลานี้ทุนมีอำนาจเหนือรัฐในทุกประเทศ พยายามย่อยสลายพลังประชาชนกลืนกินคนตัวเล็กตัวน้อยไปเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาประชาชนออกมาเรียกร้องก็ไปถึงแค่ความเป็นธรรม แต่ไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อยากจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงที่สุดก็ต้องลงท้องถนนกันอีก จึงต้องสถาปนาองค์กรประชาชนขึ้นมาจับประเด็นที่เห็นร่วมกัน เช่น ต่อต้านการผูกขาด และต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ส่วนเรื่องรัฐวิสาหกิจยังมีความจำเป็น เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐและสังคมในการให้บริการชาวบ้าน เป็นอำนาจต่อรองกับบริการที่ทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่มได้ไปครอง อาทิ โทรคมนาคม พลังงาน การขนส่งโลจิสติกส์ ส่วนจะให้มีบทบาทหน้าที่แค่ไหนเพียงไรนั้นต้องแลกเปลี่ยนหาข้อสรุปร่วมกัน
e-book-1-503x62-7