ปั้น 'ราชประสงค์' โมเดล! นำร่องสมาร์ทซิตี ศูนย์เศรษฐกิจย่านซีบีดี

23 ก.ย. 2561 | 06:21 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แม้ปัจจุบันย่าน "ราชประสงค์" จะขนาบด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสและแอร์พอร์ตลิงค์ ตลอดจนการเดินทางทางนํ้าด้วยบริการเรือโดยสารในคลองแสนแสบ และเส้นทางรถเมล์โดยสารสาธารณะหลายเส้นทางแล้ว ในอีกไม่กี่ปีนี้ยังจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการอีกด้วย

"ย่านราชประสงค์" เริ่มเห็นการปรับเปลี่ยนไป ห้องแถว 2-3 ชั้น เริ่มที่จะโดนทุบทิ้ง ผุดอาคารสูงมากขึ้น เป็นทั้งสำนักงาน ที่พักอาศัย และศูนย์การค้า รองรับผู้คนอยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในย่านดังกล่าวนี้ ผลพวงการเติบโตของเมืองในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ได้ร่วมมือกันกำหนดแผนการพัฒนาเมืองไว้รองรับอย่างสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน โดยได้พยายามเร่งผลักดันให้เป็นพื้นที่สมาร์ทซิตี (Smart District Model) เพื่ออำนวยความสะดวกสบายและปลอดภัยให้กับผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในย่านดังกล่าว

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ชาย ศรีวิกรม์" นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ถึงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนโดยรอบ ในหลายประเด็นที่น่าสนใจ

 

[caption id="attachment_319695" align="aligncenter" width="503"] ชาย ศรีวิกรม์ ชาย ศรีวิกรม์[/caption]

มองศักยภาพของราชประสงค์อย่างไร
กรณีนี้ได้ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครแล้ว ล้วนเล็งเห็นถึงศักยภาพของย่านราชประสงค์ไปในแนวทางเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ล้วนหลอมแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวกัน วางแผนและขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบัน ศักยภาพทำเล "ราชประสงค์" โดดเด่น ด้วยมีระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าให้บริการ 2-3 เส้นทาง นอกเหนือจากเรือโดยสารและรถเมล์โดยสารสาธารณะ และยังมีถนนเมนหลักเชื่อมเข้าถึงพื้นที่อีกหลายเส้นทาง มีประชาชน นักท่องเที่ยว เข้าสู่พื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 แสนคนต่อวัน อีกทั้งยังจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผ่านในพื้นที่อีกในไม่กี่ปีนี้

ประการสำคัญ ภาครัฐยังเร่งผลักดันพื้นที่มักกะสัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงถึงพื้นที่ราชประสงค์ ที่จะส่งผลให้มีคนเข้าสู่พื้นที่เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่า จึงต้องเร่งสร้างศักยภาพของเมืองในรูปแบบเมกะซิตี รองรับการเติบโตไว้ตั้งแต่วันนี้ รูปแบบเช่นเมืองสำคัญ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ บาร์เซโลนา ที่พัฒนาเมืองอย่างสอดคล้องกัน โดยเฉพาะวอล์กกิ้งสตรีตย่านศูนย์เศรษฐกิจ

"ราชประสงค์จัดเป็นย่านธุรกิจที่แตกต่าง เป็นย่านของไพรม์ พร็อพเพอร์ตี้ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ รูปแบบที่ดินแปลงใหญ่ติด ๆ กัน เจ้าของที่ดินแต่ละรุ่นล้วนคุ้นเคยกันมารุ่นต่อรุ่น จึงส่งผลให้ทุกคนมองภาพการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ถ่ายทอดต่อกันอย่างมีเป้าหมายตรงกัน โดยรวมกันเป็นสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ ด้วยจำนวน 8 กลุ่มทุนใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งเป็นทุนหลักในพื้นที่ทั้งสิ้น"


090861-1927-9-335x503



กำหนดแผนพัฒนาสมาร์ท ซิตีอย่างไร
พื้นที่คลองซุง ราชดำริ และสมาร์ทซิตีจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป ขณะนี้ได้แลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อจะเชื่อมพื้นที่เข้าหากันได้อย่างกลมกลืน เปิดพื้นที่ใหม่มากขึ้น โดยพื้นที่คลองซุงกว้างประมาณ 9 เมตร สามารถขยายได้กว้างเป็นขนาด 12-15 เมตร เป็นการเปิดพื้นที่ได้กว้างอย่างมาก โดยมีแนวคิดปรับรั้วออกทั้งหมด ให้พื้นที่เชื่อมถึงกันแบบไร้รอยต่อ พร้อมกับสร้างคาแรกเตอร์แบบไทย ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ จัดเป็นพื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันทั้งหมด

โดยนอกเหนือจากจะประสานสำนักพระพุทธศาสนา นำที่ดินขนาด 10 ไร่ หัวมุมถนนเพชรบุรีติดคลองไปพัฒนาแล้ว ยังมีแผนพัฒนาให้สามารถรองรับเทรนด์ยุคใหม่ในรูปแบบสมาร์ทซิตี้ เพื่อรองรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่

"การแข่งขันเป็นปัจจัยสำคัญให้ทุกคนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับปัจจุบัน จึงอยากวางระบบให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้กันอย่างเข้าใจกัน ในรูปแบบแฮปปี้ลิฟวิ่งสมาร์ท ไลฟ์สไตล์ สามารถสื่อสารถึงกันได้ด้วยระบบไอทีทันสมัยที่วางระบบอย่างดี ไม่ซํ้าซ้อนพื้นที่กัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนในพื้นที่ ลูกค้า และนักท่องเที่ยว ที่มาใช้บริการในพื้นที่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยนั่นเอง"


หน้า12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,402 วันที่ 20 - 22 กันยายน พ.ศ. 2561



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว