สเปนส่อเค้าขาดดุลผิดกฎ รอรัฐบาลใหม่เจรจาผ่อนผัน

20 ก.พ. 2559 | 10:30 น.
สเปนจะยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการอีกหลายสัปดาห์ แต่ความท้าทายแรกรอคอยผู้นำคนใหม่ของสเปนอยู่แล้ว นั่นคือการเจรจากับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณ

เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า จากการคาดการณ์ล่าสุดของคณะกรรมาธิการยุโรป สเปนจะรายงานการขาดดุลงบประมาณในปี 2558 ที่ 4.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และ 3.6% ของจีดีพีในปี 2559 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวล้วนแต่สูงกว่าเป้าหมายที่สหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเอาไว้ และเป็นการขาดดุลงบประมาณด้วยสัดส่วนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศยูโรโซน

นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสเปนต่างเห็นพ้องว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่สเปนจะทำงบประมาณขาดดุลได้ตามเป้าหมายที่อียูกำหนดไว้ที่ 2.8% ของจีดีพี สเปนไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปได้รัฐสภาที่เสียงแตก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท้ายที่สุดฝ่ายใดจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ของสเปน การออกมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติมนั้นเป็นไปได้ยาก

นายมาริอาโน ราฮอย รักษาการนายกรัฐมนตรีของสเปน กล่าวยอมรับว่า แม้แต่รัฐบาลของตนเองที่เคยผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศประสบภาวะวิกฤติรุนแรง ก็ต้องการให้ยุโรปผ่อนผันกฎงบประมาณให้ "สเปนจำเป็นต้องเดินตามแผนแม่บทต่อไป แต่ก็ต้องการความยืดหยุ่นที่กฎของยุโรปยอมผ่อนผันให้ได้" นายราฮอยกล่าว

ขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้ยุโรปผ่อนผันกฎงบประมาณน่าจะมีมากขึ้นถ้ารัฐบาลใหม่ของสเปนเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคสังคมนิยม และพรรคโพเดมอส ซึ่งคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัด โดยทั้ง 2 พรรคได้ให้คำมั่นว่าจะออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและแก้ไขความไม่เท่าเทียมในสเปนทันที ทั้งนี้ นายเปโดร ซานเชซ หัวหน้าพรรคสังคมนิยม กำลังได้รับสิทธิให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นๆ เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

อียูนำกฎงบประมาณที่เข้มงวดขึ้นมาใช้กับประเทศในกลุ่มยูโรโซนเมื่อปี 2556 เพื่อตอบโต้กับวิกฤติหนี้สาธารณะ โดยเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยุโรปจะประเมินงบประมาณของประเทศยูโรโซน พร้อมกับมอบคำแนะนำและสามารถเรียกเก็บค่าปรับได้ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎ

นับตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ รัฐบาลของนายราฮอยได้นำมาตรการรัดเข็มขัด ทั้งการปรับลดงบประมาณและขึ้นภาษีมาใช้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณที่สูงถึง 9% ของจีดีพีเมื่อปี 2554 อย่างไรก็ดี หลังจากเศรษฐกิจสเปนสามารถฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยเป็นเวลานานได้สำเร็จเมื่อปี 2556 รัฐบาลสเปนได้ผ่อนคลายมาตรการรรัดเข็มขัดต่างๆ ลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสเปนส่งสัญญาณการเติบโตเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ด้วยอัตราการเติบโต 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกยูโรโซนที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุด ขณะที่ตลอดทั้งปี 2558 เศรษฐกิจสเปนเติบโตได้ 3.2% สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 8 ปีก่อน

คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสเปนในปี 2559 ไว้ที่ 2.7% สูงกว่าการเติบโตโดยรวมของยูโรโซนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และราคาน้ำมันที่ถูกลงช่วยเพิ่มกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองภายในจะยังไม่มีความชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559