รัฐคืนเงิน 500 บาท เข้าบัตรคนจน 6 เดือน

19 ก.ย. 2561 | 05:30 น.
รัฐบาลเพิ่มเงินชดเชยจากภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมส่งเสริมการออมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เริ่ม 1 พ.ย. 61 ถึง 30 เม.ย. 62 ... คลังแนะผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เข้าข่าย 6 ล้านคน สมัครสมาชิก กอช. พร้อมขยายร้านค้าทั่วไปติดตั้งระบบรับบัตรสวัสดิการซื้อสินค้า ปูทางรายย่อยรับชดเชยภาษี ยืนยัน เงินกองทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ยังเพียงพอดูแลรายย่อย

น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระในแต่ละเดือน คืนกลับเป็นเงินสดในบัตร โดยจะแบ่งเป็น 1% คงไว้เป็นเงินจ่ายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับกรมสรรพากร ส่วนอีก 5% จะคืนเป็นเงินใส่เข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทุกวันที่ 15 ของเดือน เพื่อการใช้จ่ายของผู้มีบัตร และที่เหลือ 1% จะโอนเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ละราย เพื่อส่งเสริมการออมและตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ


mof190961-03

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และเป็นสมาชิก กอช. 1 แสนราย ที่สามารถโอนเงินเข้าได้ทันที แต่ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก แต่มีคุณสมบัติเข้าข่ายสมัครเป็นสมาชิก กอช. 6 ล้านบาท ซึ่งรายใดที่ยังไม่ได้สมัครให้รีบสมัครได้ทันที เพื่อให้รองรับการโอนเงินของรัฐบาลเข้าบัญชี ส่วนที่เหลือ 5 ล้านราย สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติ กระทรวงการคลังจะหารือกับสมาคมธนาคาร เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนเหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี เพื่อฝากเงินในระยะ 3-5 ปี หากมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วค่อยมาสมัครเป็นสมาชิก กอช. ภายหลัง  หลังจากนี้ กอช. ต้องจัดทำแผนดึงประชาชนสมัครเป็นสมาชิก กอช.


mof190961-02

อย่างไรก็ตาม เงินชดเชยที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้ ต้องไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยใช้ข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีสิทธิชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย. 2562 มาคำนวณเพื่อจ่ายเงินชดเชย โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 3-5 พันล้านบาท ดังนั้นต่อไปช่วงต้นเดือน ในกระเป๋า e-Money ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีเงินที่โอนเข้าไป 5 ส่วน คือ เงินจากมาตรการค่าครองชีพ เงินจากการพัฒนาอาชีพ เงินกองทุนผู้สูงอายุ เงินชดเชยจากแวต และเงินที่ตัวเองใส่เพิ่มเข้า


S__18128928

"การดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้มีเงินสำรองเก็บไว้ใช้เลี้ยงชีพในอนาคต และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและจูงใจให้ร้านค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจและสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ"


mof190961-06

น.ส.สุทธิรัตน์ ยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวไม่ใช่เป็นการคืนภาษีให้ชาวบ้าน เพราะทุกคนต้องร่วมกันเสียภาษี โดยต้องใช้บัตรสวัสดิการฯ เพื่อซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC นอกจากนี้ ยังพร้อมขยายให้ร้านค้าทั่วไป ทั้งร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (POS) และมีเครื่องคิดเงินชำระสินค้า เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากรและกรมบัญชีกลาง เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ชาวบ้านผู้ถือบัตรได้ใช้เงินซื้อสินค้าโดยได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยติดป้ายและสติกเกอร์ชัดเจนให้ผู้ถือบัตรสังเกตเห็นชัดเจน เพื่อให้มีร้านค้ารองรับโครงการได้อย่างเพียงพอ และยังส่งเสริมให้ร้านธงฟ้าประชารัฐจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี


mof190961-09

สำหรับในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2560 – ส.ค. 2561) พบว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 128 ล้านครั้ง เป็นเงิน 38,185 ล้านบาท หรือ 99% ของจำนวนเงินการใช้สิทธิทั้งสิ้น 38,535 ล้านบาท นับว่าช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และแบ่งเบาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ในระดับหนึ่ง


e-book-1-503x62-7