“บิ๊กฉัตร”เยือนเนเธอร์แลนด์ร่วมแลกเปลี่ยนบริหารจัดการน้ำระดับโลก

19 ก.ย. 2561 | 04:56 น.
รองนายกรัฐมนตรีนำทีมน้ำเยือนเนเธอร์แลนด์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากประเทศต้นแบบที่มีความเชี่ยวชาญในระบบการจัดการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำที่โดดเด่นและได้มาตรฐานระดับในโลก หวังนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการน้ำของประเทศไทย

chatn

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเยือนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2561 ตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งมีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ ทางน้ำและอากาศ โดยจะดูแลการบริหารจัดการน้ำในระดับนโยบาย การบูรณาการแผนงานและข้อมูล จนถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำ ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ติดตามประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการน้ำที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

“การบริหารจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีแผนการพัฒนาแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ภายใต้การดำเนินงานของไรจส์วอเตอร์สตาร์ท ( Rijkswaterstaat ) ที่ทำหน้าที่ดูแลกำกับในระดับนโยบาย โดยมีดัชวอเตอร์บอร์ด (Dutch Water Board) ที่มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำซึ่งกำลังจะปรับเป็นแผนแม่บทน้ำ 20 ปี การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานกลางกำหนดนโยบาย บูรณาการแผนงาน โครงการ ของหน่วยงานด้านน้ำอย่างเป็นระบบ และ ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้วและเชื่อว่าสามารถที่จะคลี่คลายปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างแน่นอน ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

chatn2

นอกจากนี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวด้วยว่า นับเป็นโอกาสดีที่ สทนช. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำจากประเทศต้นแบบ ที่มีความเชี่ยวชาญในระบบการจัดการป้องกันน้ำท่วมที่โดดเด่นและได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศของโลกที่มีความไม่แน่นอน แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มีระบบการติดตามพยากรณ์ที่แม่นยำเป็นรายชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริการจัดการน้ำของไทย ในภาวะวิกฤติที่ต้องการข้อมูลที่แม่นยำมาวิเคราะห์ คาดการณ์และเตือนภัย

ซึ่งปัจจุบันเราก็มีการจัดตั้งคณะทำงานแบบรวมศูนย์ โดยให้หน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันทั้งติดตาม วิเคราะห์ เตือนภัย และให้ความช่วยเหลือ และที่สำคัญของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำของเนเธอร์แลนด์คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนในระดับลุ่มน้ำเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำด้วย และหากกฎหมายน้ำของไทยแล้วเสร็จก็จะเกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

e-book-1-503x62-7