อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนบูม มูลค่าการลงทุนใหม่เพิ่มทำลายสถิติ

21 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
ท่ามกลางสภาวะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางขาลงเป็นส่วนใหญ่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากที่เคยอยู่ในระดับราคา 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี 2559 นี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันคือการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ในหลายประเทศทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยมีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้น 4% ในปีที่ผ่านมา

[caption id="attachment_32128" align="aligncenter" width="500"] จีนเป็นประเทศที่ลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมูลค่าสูงสุดในปี 2558 จีนเป็นประเทศที่ลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมูลค่าสูงสุดในปี 2558[/caption]

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในปี 2558 การลงทุนทั่วโลกทางด้านพลังงานหมุนเวียนมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 3.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการลงทุนมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายไมเคิล ลีบไรช์ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยของบลูกเบิร์กในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนที่สูงทำลายสถิติดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผิดความหมาย เพราะหลายคนคาดหมายว่าเมื่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติดำดิ่งลงเช่นนี้น่าจะส่งผลให้การลงทุนใหม่ๆเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่ได้ชื่อว่าเป็นพลังงานสะอาดทั้งหลายไม่น่าจะมีมากนักหรือถ้ามีก็ควรจะมีน้อย "นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนด้านพลังงานแสงแดด (solar power) และพลังงานลม (wind power) เริ่มแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้นแล้ว"

มติการประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งให้รัฐบาลหลายประเทศเร่งเดินหน้านโยบายด้านพลังงานทางเลือก หลายประเทศส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทเอกชนที่ลงทุนโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะเดียวกันบริษัทน้ำมันซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะราคาน้ำมันตกต่ำซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะดีดตัวกลับสู่ราคาระดับสูงได้อีกเมื่อใด ต่างก็เริ่มชะลอการลงทุนใหม่ๆ แองกัส รอดเจอร์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำมัน จากบริษัทวิจัย วูด แมคเคนซีย์ เปิดเผยว่า มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันยังน่าจะตกต่ำลงอีกในปี 2559 นี้ ทำให้บริษัทน้ำมันชะลอการลงทุนใหม่ๆมูลค่ารวมกันราว 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต่างก็พยายามดำเนินธุรกิจในสภาวะ "ประคองตัวให้รอด" และไม่เพียงราคาน้ำมันเท่านั้น ราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ต่างก็ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ราคาเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมที่ลดลงจะทำให้เกิดการย่อหย่อนผ่อนปรนเกี่ยวกับนโยบายประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในหลายๆประเทศและเป็นเหตุจูงใจให้ประชาชนใช้รถใช้น้ำมันกันมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าปี 2559 นี้จะยังคงเป็นปีที่มีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักๆนั้นมาจากการที่ราคาต้นทุนผลิตและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รวมทั้งกังหันลมได้ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการที่นานาประเทศหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สถิติชี้ว่า ในบรรดาการโครงการใหม่ๆเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในปี 2558 ที่ผ่านมา ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับพลังงานแสงแดดและพลังงานลม

โดยปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้ลงทุนและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับพลังงานหมุนเวียน โดยในปี 2558 จีนลงทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้น 17 % (เมื่อเทียบกับปี 2557) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ (ดังตารางประกอบ) นับว่ามากกว่าการลงทุนของสหรัฐอเมริกาถึง 2 เท่า

อีกประเทศที่มาแรงไม่แพ้กันคือ อินเดียและประเทศดาวรุ่งเศรษฐกิจเกิดใหม่รายอื่นๆ นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีการนำพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้นในหลายๆประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานตามธรรมชาติ และทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม ที่สำคัญคือการติดตั้งใช้เวลาไม่มาก ทำให้สามารถก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559