ผู้ผลิตเหล็กสุดทน จี้รัฐกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัด

21 ก.ย. 2561 | 12:26 น.
 

‘รัฐต้องกำหนดยุทธศาสตร์

ให้ชัดเจนจะไปต่อหรือเลิก’

สัมภาษณ์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กไทยยืนอยู่บนเส้นทางวิบากที่คดเคี้ยว ผู้ผลิตไทยต้องต่อสู้กับการแข่งขันทุกรูปแบบ นับตั้งแต่ถูกถล่มด้วยเหล็กราคาถูกจากจีนและอีกหลายประเทศดาหน้าเข้ามาทุ่มตลาดเหล็กราคาถูก จนพัฒนาไปสู่การแข่งขันรูปแบบใหม่ รวมถึงผลกระทบทางตรงจากสงครามการค้าที่กำลังถูกจับตาอยู่ในขณะนี้

พงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารทั่วไป บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน) ผู้ครํ่าหวอดในวงการเหล็กคนหนึ่งฉายภาพให้เห็น ความเคลื่อนไหวที่ผู้ผลิตเหล็กไทยต้องเผชิญ ทั้งปัญหาเก่าที่ยังไม่จบ ปัญหาใหม่ก็ถาโถมเข้ามาเป็นระลอก

นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี มองว่าการเสียโอกาสทางการค้า ทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งยังต้องมารับมือเมื่ออเมริกาประกาศใช้มาตรการภายใต้มาตรา 232 จนทำให้เกิดการล้นออกมา (OVERFLOW) ของสินค้าเหล็กในตลาดโลก กระทบต่อผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน สหภาพยุโรป และตุรกีที่ต้องรีบออกมาหามาตรการรับมือ
เหล็กหลายประเภททะลักเข้าไทย

ล่าสุดการล้นออกมาของสินค้าเหล็กในตลาดโลกยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน แต่ปัจจุบันได้สะท้อนออกมาที่ปริมาณนำเข้าเหล็กหลายประเภทมายังประเทศไทย ทั้งเหล็กลวดจากเวียดนาม เหล็กแผ่นหนาจากอินโดนีเซีย เหล็กเคลือบสังกะสีจากจีน ล้วนส่งสัญญาณเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ดีต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย

พงษ์1

นอกจากนี้ผู้บริโภคเหล็กไทยยังต้องเผชิญกับผลกระทบในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดจากการปรับตัวของประเทศผู้นำเข้าด้วย เช่น กรณีกลุ่มสินค้าเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ที่มี Safeguard ปกป้องอยู่นั้น ก็มีการหลบเลี่ยงเข้ามาในรูปงาน Fabricated แยกเป็นชิ้น ๆ เข้ามาประกอบในไทย ซึ่งประเด็นด้านความปลอดภัยผู้บริโภคก็ต้องมาพิจารณากัน รวมทั้งผลกระทบการปรับตัวด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกโละทิ้งมาจากประเทศหนึ่ง แต่สามารถนำมาตั้งในไทยได้ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้วย เช่นกรณี การนำเข้าเครื่องจักรสำหรับหลอมเหล็กชนิดเตา induction ที่หลายประเทศทั่วโลกไม่ใช้กันแล้ว เพราะนอกจากก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ในทางวิศวกรรมศาสตร์ยอมรับกันว่าเหล็กที่ได้จากการหลอมด้วยเตาแบบเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า (induction furnace) แม้มีราคาถูก แต่มีค่าความสมํ่าเสมอ (Homogeneous) ของคุณภาพเหล็กตลอดทั้งเส้นหรือแท่งน้อยกว่าเหล็กที่ได้จากการหลอมด้วยเตาชนิดอาร์กไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัย

“อย่างที่บอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เมื่อทุกอย่างไปเน้นราคาถูก ร้านขายวัสดุ เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา ตลอดจนผู้ผลิตบางรายเน้นกำไรมากเกินไป เคราะห์กรรมจึงมาตกที่ผู้บริโภค”
บทบาทรัฐ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นถามว่าภาครัฐช่วยอะไรได้บ้าง นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี มองว่า ภาครัฐน่าจะเป็นคำตอบเดียวที่มีผลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ต่างฝ่ายต่างมีเครื่องมือของตัวเอง เช่น กระทรวงอุตสาห กรรมเป็นผู้ออกมาตรฐานสินค้า เป็นผู้อนุมัติตั้งโรงงาน ควบคุมการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจในการพิจารณาปกป้องและตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงมีกฎหมายการควบคุมการนำเข้าและส่งออกอยู่ในมือ และมีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์สอดส่องดูแลการค้าในประเทศว่าขายแพงไปหรือไม่ โกงนํ้าหนักหรือไม่ กระทรวงการคลังมีกรมศุลกากร กรมสรรพากร คอยกำกับผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ

ขณะที่ BOI มีเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนและการใช้เครื่องมือ Surcharge (เก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้กำกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานที่กล่าวถึงข้างต้นก็ได้แต่ทำหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบแบบต่างคนต่างทำ

พงษ์2
จี้กำหนดแผนยุทธศาสตร์

ในแง่ผู้ผลิตเหล็กตั้งข้อสังเกตอีกว่าปัญหานี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลไม่กำหนดแผนยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กว่าไทยจะเอาอย่างไรกับอุตสาหกรรมเหล็ก หากไปดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีหัวข้อหนึ่งเกี่ยวกับความสามารถทางการแข่งขัน ก็ต้องบอกตามตรงว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะเราไม่มีอุตสาหกรรมต้นนํ้า ทำให้ต้นทุนในการผลิตของไทยสู้คนอื่นไม่ได้

ดังนั้นการที่เราต้องอยู่ในสถานะดังกล่าวต่อไป รัฐบาลจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพราะรัฐได้เชิญชวนเอกชนมาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เงินลงทุนที่ลงไปแล้วหลายแสนล้านบาท การจ้างงานทางตรงอีกหลายแสนคน ถ้ายุทธศาสตร์บอกเลิกดีกว่าเปลี่ยนเป็นนำเข้าให้หมดก็ต้องบอกว่ารัฐจะจัดการสิ่งที่มีอยู่อย่างไร แต่ถ้ารัฐบาลบอกเปิดเสรีเต็มที่ไปเลย รัฐก็ต้องมีแผนว่าจะช่วยเหลือผู้ผลิตที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร เพราะการปล่อยเสรีวันนี้มันเหมือนการต่อสู้ที่ไม่เป็นธรรม เหมือนเอานักมวยรุ่นเล็กไปต่อยกับรุ่นใหญ่

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,402 วันที่ 20-22 กันยายน 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว