"ทาทา สตีล" สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ชุมชนรอบโรงงาน

18 ก.ย. 2561 | 16:20 น.
"ทาทา สตีล" เดินหน้าแก้ปัญหาพื้นที่รอบโรงงาน พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน พร้อมส่งเสริมอาชีพ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม




กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบก (7)

นายศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายที่ "ทาทา สตีล" ตั้งไว้ คือ การเป็นโรงงานอันเป็นที่รักและเป็นเพื่อนแท้ของชุมชน จากการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อชุมชน ร่วมมือแก้ไขปัญหาบริเวณรอบโรงงาน รวมทั้งพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กลุ่มบริษัท ทาทา สตีล และโรงงานเอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป ตั้งใจปฏิบัติควบคู่กับการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน


กลุ่มแม่บ้านให้สัมภาษณ์กับสวท.

สำหรับกลุ่มชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบกนั้น ทาทา สตีล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมอาชีพของชุมชน ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม รวมถึงความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การทำบัญชี การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ตลอดจนยังได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้นำสินค้าเข้ามาขายในโรงงานทุกสิ้นเดือน จนทำให้ ทาทา สตีล สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นโรงงานที่รักและเป็นเพื่อนแท้ของชุมชนได้ในที่สุด


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบก (1)

ปัจจุบัน หากพูดถึงกระแสการท่องเที่ยวและการซื้อสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า เทรนด์ "Localism" นั้น กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เห็นได้จากทุกครั้งที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด จะพบเห็นแหล่งท่องเที่ยวหรือสินค้าท้องถิ่นที่แปลกใหม่ ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด ชุมชนหลาย ๆ แห่ง ต่างตื่นตัวที่จะดึงจุดเด่นและเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อเป็นจุดขายสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างงานสร้าง อาชีพจากทุนทางสังคม อาทิ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างครบวงจร ที่มีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้อยู่ร่วมกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตพร้อมกับขายสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อาหารและผลไม้ขึ้นชื่อ หรือ สินค้าหัตถกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมาจากการระดมความคิดร่วมกันของคนในชุมชน และต้องมีหน่วยงานสนับสนุนด้านความรู้การตลาด บัญชีการเงิน รวมถึงเทคโนโลยีกระบวนการการผลิตสินค้า วิเคราะห์หาจุดเด่นร่วมกันว่า ควรจะพัฒนาต่อยอดสิ่งใดให้เป็นแหล่งรายได้หลัก ตัวอย่างชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง และดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาได้ อย่างประสบความสำเร็จ ที่กำลังจะพาไปรู้จัก คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบก ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยสินค้าที่ชุมชนตัดสินใจเลือกนำมาพัฒนาต่อยอด ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็น "กุนเชียงโฮมเมด" ภายใต้การสนับสนุนหลักของโรงงาน เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเครือของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณชุมชน และเล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนชุมชนให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดการเป็นบริษัทพลเมืองที่ของประเทศชาติ


แพคเกจ1

นางสัมฤทธิ์ ทองวิเชียร ประธานชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบก ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า แต่เดิมชุมชนที่ตนอยู่นั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ในภายหลังได้มีการรวมตัวเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน โดยสิ่งที่ได้จากการระดมความคิดกันภายในกลุ่ม ประกอบกับที่คนในชุมชนได้เข้าร่วมอบรมการทำ "กุนเชียง" จากการส่งเสริมของทาทา สตีล เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแปรรูปอาหารที่สามารถเก็บได้นาน เป็นอาหารสำเร็จรูปที่ทานง่าย มีรสชาติอร่อย และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ตัดสินใจเลือกทำกุนเชียงนั้น มาจากการที่ทาทา สตีล เล็งเห็นว่า ชุมชนมีแหล่งวัตถุดิบหลักที่มีคุณภาพ นั่นคือ ฟาร์มเลี้ยงหมูที่ อ.บ้านบึง ซึ่งเป็นหมูที่ผ่านการเลี้ยงตามมาตรฐาน มีราคาต้นทุนที่ไม่สูง จึงเหมาะที่จะนำมาริเริ่มเป็นสินค้าแปรรูปในขั้นต่อไป และเมื่อชุมชนมีการพัฒนาการผลิต ทั้งในเรื่องคุณภาพที่ได้การรับรองมาตรฐานสินค้า (อย.) บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทนทาน เก็บได้นาน รวมถึงสามารถหาฐานตลาดในการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายเป็นประจำ จึงแปรเปลี่ยนจากการประกอบเป็นอาชีพเสริม กลายเป็นอาชีพหลักซึ่งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน

จุดเด่นกุนเชียงโฮมเมดของกลุ่มชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบก คือ วัตถุดิบที่เลือกนำมาแปรรูป เป็นวัตถุดิบคุณภาพดี โดยจะเลือกใช้เนื้อหมูส่วนสะโพก มันแข็งของหมู และไส้เทียม จาการที่ชุมชนเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ประกอบกับกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับการอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กุนเชียงของชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบกได้คุณภาพและมีรสชาติที่อร่อย จนเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าบริเวณชุมชนและนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มลูกค้าหลักของชุมชน ได้แก่ พนักงานโรงงาน เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี ต.บ่อวิน จ.ชลบุรี โดยใน 1 สัปดาห์ มียอดจำหน่ายกุนเชียงสูงถึง 120 กิโลกรัม โดยประมาณ จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มจำนวนการผลิตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มประเภทของกุนเชียงขึ้นเป็น 3 ชนิด ได้แก่ กุนเชียงหมู กุนเชียงปลา กุนเชียงไก่ และล่าสุด ได้มีการพัฒนากุนเชียงสูตรใหม่ "หมูพริกไทยดำ" เพื่อตอบโจทย์ความชอบของลูกค้าที่หลากหลายได้อย่างครบถ้วน


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรเนินกระบก (4)

นอกจากกุนเชียงที่สร้างรายได้หลักให้กับชุมชนแล้ว ชุมชนก็ยังไม่หยุดแสวงหาความรู้ เพื่อผลิตสินค้าใหม่ ๆ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และด้วยข้อได้เปรียบของชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรม ทำให้มีกลุ่มลูกค้าเป็นพนักงานโรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้ ชุมชนยังรับเอานวัตกรรมและความรู้จากโรงงานมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า โดย "ทาทา สตีล" เป็นหนี่งในผู้ริเริ่มความร่วมมือระหว่างโรงงานกับชุมชน เข้ามาสำรวจความต้องการของชุมชน ว่า มีความต้องการให้โรงงานสนับสนุนกลุ่มอาชีพของชุมชนอย่างไรบ้าง ตลอดจนได้เข้ามาให้ความรู้เพิ่ม เติมในกระบวนการทำกุนเชียงดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้แนะนำการผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่เหมาะกับความสามารถของชาวบ้าน และใช้วัตถุดิบที่หาได้ไม่ยาก อาทิ การทำบะหมี่หมูแดง ข้าวขาหมู และขนมปังเบเกอรี่ เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการทำกุนเชียงด้วย

"ในช่วงแรกที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งในบริเวณชุมชนนั้น สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็มีทัศนคติทางลบต่อโรงงาน เพราะคิดว่าเจ้าของโรงงานเหล่านี้จะไม่สนใจความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เท่ากับผลผลิตของกิจการตนเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป โรงงานได้พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน จนเกิดเป็นความเชื่อมั่น และทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มปรับตัวเข้าหากัน เหมือนสุภาษิตที่ว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" โรงงาน เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเครือของบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรีบ่อวิน จึงกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สร้างงานให้กับคนในพื้นที่ การค้าขายในชุมชนขยายตัวขึ้น อีกทั้งชุมชนและโรงงานยังได้สร้างสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่า ไม่ได้ถูกโรงงานทอดทิ้ง และมีทัศนคติที่ดีต่อโรงงานมากขึ้น" นางสัมฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

"สิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างอาชีพ คือ การรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง มีความสามัคคีภายใน นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องรู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่หยุดที่จะแสวงหาการพัฒนาใหม่ ๆ ดึงจุดเด่นที่ชุมชนมีอยู่แล้วออกมาใช้ให้ได้ อีกทั้งการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้กลุ่มอาชีพของชุมชนพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน"


e-book-1-503x62-7